ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาท “ธ. เกียรตินาคิน” ที่ระดับ “A-/Positive”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 23, 2013 09:21 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ในวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาทที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A-” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจและผลประกอบการของธนาคารที่ดีขึ้นภายหลังการรวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และฐานเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดเล็ก รวมทั้งเครือข่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหลังการรวมกิจการ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจหลักทรัพย์ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคตได้เช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนการคาดการณ์ว่า ธนาคารจะได้ประโยชน์จากการรวมกิจการเพื่อที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรได้ในระยะกลาง อีกทั้งยังสะท้อนความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งการรักษาฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับความเสียหายที่เกินกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้จากความเสี่ยงในช่วงภาวะถดถอยในอนาคต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคงติดตามความเคลื่อนไหวภายหลังการรวมกิจการ ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรและรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 11 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย ณ สิ้นปี 2555 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.9% และเงินรับฝากที่ 1.6% ธนาคารสามารถบริหารธุรกิจหลักอันประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้เป็นอย่างดีจากการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความเสี่ยงในเรื่องการกระจุกตัวของสินเชื่อ โดยสินเชื่อสำคัญ 2 ประเภทคือ สินเชื่อเช่าซื้อ (76%) และสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย (17%) มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 90% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตในสินเชื่อกลุ่มลูกค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการหลัก ๆ ของธนาคารด้วย โดยสินเชื่อดังกล่าวจัดเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับกลางถึงสูง สินเชื่อของธนาคารมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 21% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นปี 2555 ธนาคารมีสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 169.0 พันล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโต 24.5% โดยมีปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ

ธนาคารประสบความสำเร็จในการรวมกิจการกับบริษัททุนภัทรและบริษัทย่อยคือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ตามแผนกลยุทธ์การเติบโต โดยมีผลเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ทั้งนี้ บล. ภัทรซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัททุนภัทร เป็นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ชั้นนำของไทย บริษัทมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 มากเป็นอันดับ 9 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 33 แห่ง บล. ภัทรมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจด้านตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ส่งผลให้ธนาคารมีศักยภาพทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น และสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ โครงสร้างรายได้ของกลุ่มเกียรตินาคิน-ภัทรยังกระจายตัวได้ดียิ่งขึ้นจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในธุรกิจตลาดทุน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรวมกิจการ ธนาคารยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างองค์กร ทั้งนี้ สถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารในระยะกลางจะดียิ่งขึ้นหากธนาคารประสบความสำเร็จในการผสานความร่วมมือภายในกลุ่ม

ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตด้วยสินทรัพย์คุณภาพดี โดยได้พัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงด้วยการใช้นโยบายสินเชื่อและเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2552-2554 โดยลดลงจาก 5.4 พันล้านบาทในปี 2552 เป็น 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 พันล้านบาทซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2554 แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยลดลงจาก 6.2% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 3.3% ในปี 2555 กระนั้นก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กอื่น ๆ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ไว้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ อัตราส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงจาก 95% ในปี 2552 เหลือ 44% ในปี 2555

สถานะทางการเงินของธนาคารอยู่ในระดับที่ดีขึ้น โดยในปี 2555 ธนาคารมีกำไรสุทธิก่อนหักภาษีจำนวน 4.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากรายได้ของบริษัททุนภัทรและ บล. ภัทร อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเท่ากับ 1.6% และ 11.8% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.4% และ 9.8% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงจากธุรกิจหลักไว้ได้ แต่ธนาคารยังคงมีต้นทุนทางการเงินที่สูงที่สุดในระบบ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลดลง โดยต้นทุนในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการแข่งขันระดมเงินฝาก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่เรียกเก็บจากเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนถึงความสามารถทางการแข่งขันของธนาคารที่ลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ธนาคารอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงขึ้นเพื่อทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน จะส่งผลให้สถานะความเสี่ยงของธนาคารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ในส่วนของสภาพคล่องและเงินทุนนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งจากความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่จะครบกำหนดภายใน 12 เดือน โครงสร้างเงินทุนของธนาคารเปลี่ยนแปลงไปโดยมีการระดมเงินทุนจากฐานเงินฝากมากขึ้นเนื่องจากการระดมทุนด้วยตั๋วแลกเงินมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความอ่อนไหวและผันผวนได้ง่าย อย่างไรก็ดี ธนาคารมีนโยบายเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น

ฐานเงินทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2555 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 14.01% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมเท่ากับ 14.69% แม้ว่าระดับเงินกองทุนจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2554 (เงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 14.70% และเงินกองทุนรวมเท่ากับ 15.40%) แต่ยังคงสูงกว่าระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.25% และ 8.50% ตามลำดับ อีกทั้งยังคาดว่าเงินกองทุนของธนาคารจะเพียงพอตามเกณฑ์ BASEL III นอกจากนี้ อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 12.8% ในปี 2554 เป็น 14.3% ในปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรวมกิจการกับบริษัททุนภัทร ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย การดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรองรับความเสี่ยงในช่วงภาวะถดถอยจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK142A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,905 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK144A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,485 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557           	A-
KK16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 975 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559	              A-
KK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561    	       A-
KK18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561	              A-
KK18DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561	              A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559	A-
แนวโน้มอันดับเครดิต:	Positive
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ