บริษัทเซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ช. การช่างซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งในประเทศไทยในปี 2547 เพื่อลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 75% ในโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 (NN2HPP) ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป.ลาว และส่วนที่เหลืออีก 25% ถือครองโดย EDL-Generation Public Company (EDL-Gen) บริษัทลูกของ Electricite du Laos (EDL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของลาว โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และมี สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีนับจากวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date -- COD) เพื่อขายไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่ กฟผ. นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้รับสัมปทานในลักษณะโอนกรรมสิทธิ์ในระบบผลิตและระบบจ่ายให้แก่ผู้ว่าจ้างเมื่อสิ้นสุดสัญญา (Build-Own-Operate-Transfer -- BOOT) จากรัฐบาลลาวด้วย โดยโครงการเริ่มผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (56.0%) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (33.3%) โดย บริษัทซีเค พาวเวอร์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานของกลุ่ม ช. การช่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันกลุ่ม ช. การช่างดำเนินธุรกิจที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค ในขณะที่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งซึ่งมี กฟผ. ถือหุ้นในสัดส่วน 45.0% เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งที่ดำเนินงานแล้วรวมทั้งสิ้น 5,313 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 ตั้งอยู่บนลำน้ำงึมซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์เมืองหลวงของสปป.ลาว 90 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากเขื่อนน้ำงึม 1 ไปทางต้นน้ำ 35 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จตามเวลาและมีมูลค่าการก่อสร้างตามงบประมาณ 31,000 ล้านบาท โครงการนี้มี กฟผ. เป็นผู้ปฎิบัติการโรงไฟฟ้าภายใต้สัญญาบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Agreement -- OMA) ระยะเวลา 27 ปี โดยรับเหมาช่วงต่อจาก บริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาหลักแก่โครงการ เนื่องจาก กฟผ. มีความชำนาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย ดังนั้น ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของโครงการจึงลดลงไปอย่างมากจากการมีส่วนร่วมของ กฟผ. ในโครงการ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายสูงถึง 99.0% ในขณะที่ในปี 2555 มีความพร้อมจ่ายอยู่ที่ 96.5% และ ในปี 2554 อยู่ที่ 97.2%
ภายใต้สัญญาสัมปทาน โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 มีสิทธิ์ในการใช้น้ำจากลำน้ำงึมในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงสิทธิ์ในการถือครองที่ดินโดยการเช่า ซึ่งรวมถึงอ่างเก็บน้ำและสิทธิ์ในการใช้ถนนทางเข้าโครงการและทางสายส่ง นอกจากนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นยังสามารถรับชำระและฝากไว้นอกประเทศลาวได้ ซึ่งรวมถึงเงินปันผลและการชำระหนี้เงินกู้ด้วย รายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะต้องนำไปชำระค่าสิทธิสัมปทาน (Royalty Fee) และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐบาลลาวตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการภายใต้แผนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและแผนงานพัฒนาด้านสังคมในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องโดยให้เหมาะสมกับวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้วย
ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว กฟผ. จะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในลักษณะจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมดโดยสามารถเรียกรับไฟฟ้าส่วนที่ขาดให้ครบได้ภายหลัง (Take-or-Pay) ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,310 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ต่อปีซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะต้องมีความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันหรือเทียบเท่ากับพลังงานไฟฟ้าประมาณ 1,722 ล้านหน่วยต่อปี (หรือ 77% ของเป้าหมายจัดส่งรายปี -- Annual Supply Target) พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากต่อการคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวมีกลไกที่ทำให้กระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะมากหรือน้อยกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปี โดยกลไกดังกล่าวจะยอมให้โครงการสามารถผลิตและขายไฟฟ้าเกินกว่าเป้าหมายในปีที่มีปริมาณน้ำมาก ในขณะที่ในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย โครงการจะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้
ในปี 2554 ปริมาณน้ำจากลำน้ำงึมไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโครงการมีปริมาณมากเป็นพิเศษที่ 8,778 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่ 6,270 ล้าน ลบ.ม. ระหว่างปี 2492—2546 อยู่ 40% ดังนั้น โครงการจึงประกาศการผลิตไฟฟ้าจำนวน 2,780 ล้านหน่วยเพื่อขายให้แก่ กฟผ. ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปีของปี 2544 ที่ 1,778 ล้านหน่วย ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้า โครงการสามารถขายไฟฟ้าจำนวน 2,433 ล้านหน่วยให้แก่ กฟผ. ในปี 2554 ดังนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนที่เหลือจำนวน 347 ล้านหน่วยจึงถูกนำไปสะสมในบัญชีพลังงานสำหรับใช้ในอนาคตเมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ
ในปี 2555 น้ำปริมาณ 5,858 ล้าน ลบ.ม. ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโครงการซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ 6.6% โครงการประกาศการผลิตไฟฟ้าจำนวน 2,180 ล้านหน่วยซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปีที่ 2,310 ล้านหน่วย อย่างไรก็ตาม โครงการสามารถขายไฟฟ้าได้จำนวน 2,421 ล้านหน่วยโดยการนำไฟฟ้าจำนวน 241 ล้านหน่วยที่สะสมไว้ในบัญชีพลังงานออกมาใช้ การใช้บัญชีพลังงานช่วยให้กระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจะต่ำกว่าเป้าหมายจัดส่งรายปี ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 โครงการมีพลังงานไฟฟ้าคงเหลือจำนวน 106 ล้านหน่วยสะสมอยู่ในบัญชีพลังงานซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีที่แห้งแล้งได้
สถานะทางการเงินของบริษัทขึ้นอยู่กับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าโครงการเดียวของบริษัทในขณะนี้ โดยรายได้ของบริษัทในปี 2554-2556 มาจากโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 ทั้งหมด ในปี 2555 บริษัทมีรายได้ 3,838 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 3,108 ล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่ 78.7% โดยอัตรากำไรที่สูงนี้เป็นลักษณะปกติของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเนื่องจากไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานค่อนข้างคงที่ สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทมีรายได้ 961 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 25% ของรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานในปี 2556 ในขณะที่บริษัทมีกำไรจากดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จำนวน 745 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ในระดับสูงที่ 77.5%
ความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โครงสร้างรายได้และเงินกู้ของโครงการทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ้างเนื่องจากโครงสร้างรายได้ของโครงการได้รับชำระเป็นเงินบาทในสัดส่วนประมาณ 50% และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอีกประมาณ 50% ในขณะที่โครงสร้างเงินกู้นั้นประกอบด้วยเงินกู้สกุลบาท 70% และเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐอีก 30% อย่างไรก็ตาม บัญชีธนาคารต่างประเทศในไทยที่บริษัทมีอยู่ช่วยขจัดความเสี่ยงจากการโอนเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่บริษัทก็ยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้โครงการเป็นอัตราแบบลอยตัวโดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) สำหรับเงินกู้สกุลบาทและอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (LIBOR) สำหรับเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ
โครงสร้างเงินกู้ของบริษัทมีเงื่อนไขที่ดูแลผลประโยชน์ของเจ้าหนี้เงินกู้ โดยเจ้าหนี้ทั้งหมดเป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับ 1 จากสัญญาหลักประกันของโครงการ ได้แก่การจำนองทรัพย์สินทั้งหมดของโครงการ รวมถึงการจำนำสัญญาหลักของโครงการ ตลอดจนการจำนำบัญชีเพื่อการดำเนินงาน และบัญชีเพื่อการชำระหนี้ทั้งหมด ในทุก ๆ ปี โครงการจะต้องนำส่งงบประมาณสำหรับการดำเนินงานเพื่อให้เจ้าหนี้อนุมัติ เงินสดที่ได้รับจากโครงการจะถูกจัดสรรให้กับบัญชีสำรองต่าง ๆ สำหรับนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ การดำเนินงาน และการชำระหนี้ซึ่งรวมถึงบัญชีสำรองเพื่อการชำระหนี้ใน 6 เดือนข้างหน้าด้วย นอกจากนี้ เงินสดจำนวน 20% ที่เหลือจากการจัดสรรให้กับบัญชีดังกล่าวจะต้องนำไปชำระหนี้ก่อนกำหนด (Mandatory Prepayment) ก่อนที่จะนำไปจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทดีขึ้นในช่วง 2 ปีสุดท้ายของอายุเงินกู้ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 นี้มีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.21 เท่าตลอดอายุของสัญญาเงินกู้
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html