ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะเงินทุนที่เข้มแข็ง ตลอดจนความแข็งแกร่งของฐานรายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงความสามารถของบริษัทในการนำประสบการณ์และความรู้ของกลุ่มเคจีไอในไต้หวันซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายหลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดก็มีผลต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารกองทุนของ บลจ. วรรณ ได้ต่อไปแม้สภาพการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะยังคงมีความผันผวนเป็นอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ การลงทุนในหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ได้
บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีแหล่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและไม่กระจุกตัวอยู่ที่รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก กล่าวคือ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 50% ของรายได้รวมเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่สูงกว่า 70% การขยายฐานรายได้ในส่วนที่ไม่ได้มาจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะช่วยให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นภายหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ส่วนกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 23%-41% ของรายได้รวมมาจากธุรกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ ธุรกิจการซื้อคืนภาคเอกชน การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด ตลอดจนการลงทุนของบริษัทในตราสารหนี้และตราสารทุน นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารจัดการกองทุนของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 99% ด้วย ทั้งนี้ รายได้จากการบริหารจัดการกองทุนถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรายได้อื่น ๆ ของธุรกิจหลักทรัพย์
บริษัทจัดได้ว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมีความได้เปรียบจากการนำความรู้ทางวิศวกรรมการเงินตลอดจนประสบการณ์ของกลุ่มเคจีไอ ไต้หวัน ซึ่งอยู่ในตลาดการเงินที่มีการพัฒนามากกว่ามาใช้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ในประเทศไทย การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจะช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการบริการที่แตกต่างกันเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัท บริษัทพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องให้ล้ำหน้าคู่แข่งเพื่อจะมีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรที่สูงก่อนที่จะเกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาด
ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 คงอยู่ที่ 3.6% (อันดับ 12) ซึ่งใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัททั้งปีในปี 2555 แต่ยังคงต่ำกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.5% (อันดับ 9) บริษัทมีการพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่อยู่ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามูลค่าซื้อขายจากลูกค้ารายใหญ่ 20 รายแรกคิดเป็นกว่า 40% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดของบริษัท (ไม่รวมการซื้อขายในบัญชีของบริษัท) เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแข่งขันได้มากกว่า
การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัททำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาด บริษัทมีเงินลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยบริษัทจัดว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรม บริษัทมีการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อันนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิต ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 1.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เทียบกับระดับต่ำกว่า 1.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 และ 2555 อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อดังกล่าวจัดว่าอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้กับคู่แข่ง กล่าวคือคิดเป็น 3% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรม และคิดเป็น 33% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท
บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 443 ล้านบาทในปี 2555 เทียบกับ 594 ล้านบาทในปี 2554 และ 753 ล้านบาทในปี 2553 การลดลงของผลกำไรสุทธิในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการลดลงของกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ การที่ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้พัฒนาและเข้าสู่จุดอิ่มตัวมากขึ้นทำให้กำไรจากการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลดลงจากช่วงแรกที่บริษัทควบคุมตลาดได้มากกว่านี้ โดยกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ลดลงจาก 948 ล้านบาทในปี 2553 เหลือ 798 ล้านบาทในปี 2554 และเหลือเพียง 467 ล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 57% ในปี 2555 เทียบกับ 51% ในปี 2554 และ 48% ในปี 2553
อัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2555 เทียบกับ 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2554 และ 2.2 เท่า ณ สิ้นปี 2553 บริษัทได้ลดขนาดของเงินลงทุนลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ก่อนจะกลับมาขยายเงินลงทุนอีกครั้งในปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2555 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 74% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนด
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html