บริษัทโกลว์ พลังงานก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer — IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่ม GDF SUEZ ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ปัจจุบัน บริษัทโกลว์ พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogeneration ประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2556 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,188 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย IPP 1,525 เมกะวัตต์ และ Cogeneration 1,663 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogeneration ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุด โดยบริษัทขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจยานยนต์ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพียงประมาณ 2% ของกำลังการผลิตรวมเท่านั้น
จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 3,188 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,206 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน2,345 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือระหว่าง 4-25 ปี ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่เหลือและไอน้ำ รวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้น บริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท บริษัทได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2551-2555 ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 66% เทียบกับ 55%-60% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (34%)
ในปี 2555 โรงไฟฟ้า IPP มีอัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าลดลง กล่าวคือ อัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าและการปิดซ่อมฉุกเฉินอยู่ที่ระดับ 84.8% และ 5.5% ซึ่งด้อยกว่าปี 2554 ที่มีค่าความพร้อมจ่ายในระดับ 96.3% และการปิดซ่อมฉุกเฉินในระดับ 1.8% อัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของบริษัทลดลงเนื่องจากโรงไฟฟ้า IPP ที่จังหวัดชลบุรีมีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 660 เมกะวัตต์ ภายใต้ชื่อ “เก็กโค่-วัน” ในจังหวัดระยองก็เพิ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2555 โดยที่เครื่องจักรของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ประสบปัญหาการรั่วซึมในท่อต่อของ Boiler ในช่วงเดือนแรกของการดำเนินงาน อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โรงไฟฟ้า IPP ทั้งหมดของบริษัทในจังหวัดชลบุรีดำเนินงานอย่างราบรื่นโดยไม่มีแผนการซ่อมบำรุงใหญ่แต่อย่างใด ส่วนโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันประสบปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ไอน้ำอีกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ทำให้อัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้ารวมของโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัทลดลงเป็น 89.4% และอัตราการปิดซ่อมฉุกเฉินก็เพิ่มขึ้นเป็น 10.7% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ส่วนโรงไฟฟ้าในกลุ่ม SPP มีการดำเนินงานที่น่าพอใจโดยมีอัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าในระดับ 95.9% ในปี 2555 และ 97.4% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556
บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2555 และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วัน แม้ว่ากลุ่มโรงไฟฟ้า IPP จะมีอัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าลดลง แต่ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2555 โดยเติบโต 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 4,640 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2555 การเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2555 ความต้องการใช้ไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบกับปี 2554 รายได้รวมของกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 เนื่องจากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันในเดือนสิงหาคม 2555 ทำให้รายได้รวมของธุรกิจ IPP เติบโต 41.7% เมื่อเทียบกับปี 2554 เป็น 57,204 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 21.8% ในปี 2555 จาก 23.0% ในปี 2554 เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและรัฐบาลชะลอการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Fuel Adjustment Charge -- Ft) กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงเพิ่มขึ้น 33.2% เป็น 12,623 ล้านบาท จาก 9,477 ล้านบาทในปี 2554
ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงเติบโตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โดยรายได้รวมเติบโต 58.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 17,354 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 25.0% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 จาก 21.8% ในปี 2555 อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ค่าไฟฟ้าผันแปรที่อยู่ในระดับสูง ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างทรงตัว และไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงไฟฟ้า IPP ที่ระยอง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงเพิ่มขึ้น 105.3% เป็น 4,468 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากที่อยู่ในระดับ 65.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 เป็น 61.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าแล้วเสร็จตามแผน การที่บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้ทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในปี 2556-2557
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html