ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและการดำรงเงินสะสมในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเองและภารกิจที่รับโอนจากรัฐบาล ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่จะต้องติดตามความคืบหน้าด้วยเช่นกัน เช่น การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม การบริหารจัดการหนี้สินและการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับระดับรายได้ และการพัฒนากรอบวินัยในการบริหารหนี้ให้เป็นรูปธรรม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่องตลอดไป อีกทั้งภาระผูกพันจากการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคต รวมถึงภาระหนี้ของบริษัทย่อยควรได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน
กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ในปี 2554 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product — GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 3.33 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 31.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product — GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากร โดยเป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาลกลาง
ในปีงบประมาณ 2555 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้จำนวน 59,549 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4% จากปีงบประมาณที่ผ่านมา สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 นั้น กรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีรายได้จำนวน 44,481 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 74% ของงบประมาณรายได้ ในปีงบประมาณ 2555 รายได้ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมดซึ่ง 90% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยสัดส่วนที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์ และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมคิดเป็นประมาณ 47% 24% และ 17% ตามลำดับ ในขณะที่ในปีงบประมาณ 2555 กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายรวม 67,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีรายจ่ายเพิ่มเติมในการลงทุนปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย ดังนั้น จึงส่งผลให้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครลดลงจาก 20,144 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 เป็น 14,187 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 เพื่อชดเชยการขาดดุล กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 73% ของรายจ่ายรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2555 โดยส่วนที่เหลือเป็นงบลงทุน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินการของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 49,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้ความสามารถในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครลดลง
ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2,490 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2553 เป็น 7,298 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 และ 8,768 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 โดยภาระหนี้สินส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครมาจากภาระการกู้เงินของบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) และภาระผูกพันจากสัญญาที่กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างให้บริษัทกรุงเทพธนาคมเป็นผู้รับจ้าง จัดหา และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครระยะเวลา 30 ปี และบริษัทกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยทริสเรทติ้งรวมมูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าให้เป็นภาระหนี้ ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระรายจ่ายผูกพันล่วงหน้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนภาระรายจ่ายผูกพันล่วงหน้ารวมภาระในการชำระหนี้ต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.7% ในปีงบประมาณ 2556 เมื่อเทียบกับระดับ 1.6% ในปีงบประมาณ 2555 อีกทั้งกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้มีบันทึกรายได้และรายจ่ายทั้งหมดจากโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครในผลการดำเนินงานด้านการคลังของกรุงเทพมหานครซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีการบันทึกรายได้และรายจ่ายในอนาคตที่ต่ำกว่าระดับความเป็นจริง
กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจและการลงทุนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ ทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ แต่เงินอุดหนุนที่ได้รับจะต้องใช้ตามโครงการที่กำหนดไว้และมีจำนวนไม่เพียงพอ กรุงเทพมหานครจึงได้พิจารณาหาแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อใช้ในการลงทุน เช่น การว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคมในการบริหารโครงการพร้อมจัดหาเงินลงทุน อีกทั้งยังได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีชนิดใหม่หรือการเพิ่มอัตราภาษีบางประเภท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวเพราะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อความนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบทั้งในด้านกฎหมายและในด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html