ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมและใช้ในการลงทุนตามแผน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงานในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยและแนวโน้มการใช้แก๊สโซฮอล์และเอทานอลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในเดือนกรกฎาคม 2556 บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% ของ บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรีซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่ถือหุ้นโดยครอบครัวว่องกุศลกิจ โดยบริษัทซื้อหุ้นในราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ และใช้เงินลงทุนรวม 93.5 ล้านบาท บริษัทจะรวมผลการดำเนินงานของบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีในปี 2556 เป็นต้นไป ในปีการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลรวมบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 4.0 ล้านตัน
บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ในฤดูการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลผลิตน้ำตาลที่ 2.00 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.9% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปีก่อนเนื่องจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดเลยเริ่มดำเนินงาน ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (16.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (9.3%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.4%) และกลุ่มวังขนาย (6.6%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105.9 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 100.24 กก. ต่อตันอ้อยสำหรับปีการผลิต 2555/2556
บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.14 ล้านตันในปีการผลิต 2555/2556 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 123.2 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2555/2556 โรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาวของบริษัทผลิตน้ำตาล 0.34 ล้านตันในฤดูการผลิต 2555/2556 ส่วนโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย (MSF) อยู่ระหว่างการหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2555/2556 MSF คาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 0.55 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2555/2556
ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) ในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 89,572 ล้านบาท และมี EBITDA 15,581 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 67% ของ EBITDA รวมของบริษัทกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 37% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 28% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดยธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวมี EBITDA เพียง 416 ล้านบาทในปี 2555 ส่วน MSF มี EBITDA เพียง 64 ล้านบาทในปี 2555
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนมิถุนายน 2556 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาโดย EBITDA เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4,833 ล้านบาทในปี 2555 จาก 2,425 ล้านบาทในปี 2551 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 31% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2555
แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง รายได้ของบริษัทยังทรงตัวในระดับสูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 โดยรายได้ทรงตัวที่ 47,400 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 46,899 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าตลอดจนการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายน้ำตาลในประเทศจีนชดเชยการปรับลดของราคาน้ำตาลทราย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจน้ำตาลทั้งประเทศไทยและจีนลดลงโดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (รวมกำไรจากสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้า) ลดลงเป็น 22.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 25.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA รวมลดลงเป็น 11,333 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2556 ลดลง 10% จาก 12,570 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 53% ช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของกำไรในธุรกิจน้ำตาล แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดต่ำลงแต่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 9.5 เท่าในครึ่งปีแรกของปี 2556 โครงสร้างการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับปานกลาง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 47.0% ณ เดือนธันวาคม 2555 อัตราส่วนเงินกู้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเป็น 52.0% ณ เดือนมิถุนายน 2556 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลการผลิตในครึ่งแรกของปี
ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ระดับต่ำแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์จากประมาณ 16 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังประสบปัญหาต้นทุนอ้อยในประเทศจีนที่อยู่ระดับสูงเนื่องจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีน ดังนั้นคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนแอลงแต่คาดว่ายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้ เนื่องจากราคาส่งออกสำหรับปี 2556 ของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยได้มีการทำสัญญาขายล่วงหน้าไปทั้งหมดแล้ว ณ ราคาใกล้เคียงกับราคาส่งออกอ้างอิงที่ดำเนินการขายโดย บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย โดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยได้ทำสัญญาขายน้ำตาลทั้งหมดในราคาประมาณ 21 เซนต์ต่อปอนด์สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 นอกจากนี้ การเติบโตของความต้องการเอทานอลและกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยการลดลงของกำไรในธุรกิจน้ำตาลได้บางส่วน บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 17,500 ล้านบาทในปี 2556-2558 เงินลงทุนนี้สามารถใช้เงินจากกำไรจากการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัทมี EBITDA ประมาณ 15,000-17,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html