ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมและใช้ในการขยายสินเชื่อ อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงการพัฒนากระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติงานและระบบบริหารความเสี่ยงที่ต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเนื่องจากปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารธนชาตภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและคุณภาพสินเชื่อของบริษัทจากการที่ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าประสบการณ์ของผู้บริหาร ตลอดจนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการสนับสนุนจากบริษัทแม่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อในตลาดเป้าหมายได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่ยังคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ
บริษัทราชธานีลิสซิ่งมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคารธนชาตพร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ปัจจุบันธนาคารธนชาตได้จัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Non -Solo Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของ ธปท. แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์และตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน ธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ธนาคารธนชาตยังเข้าไม่ถึง ธนาคารธนชาตได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยมีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต ล่าสุด บริษัทได้เปลี่ยนระบบสารสนเทศสำหรับธุรกิจเช่าซื้อมาใช้ระบบเดียวกับของธนาคารธนชาต และเมื่อเดือนเมษายน 2556 บริษัทยังใช้ระบบบัญชีเดียวกับธนาคารธนชาตด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านการกำกับดูแลจากธนาคารแม่ด้วยเช่นกัน
สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารนครหลวงไทยในปี 2549 บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและจากการกู้ยืมจากธนาคารนครหลวงไทยเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายสินเชื่อ สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 48% ในช่วงปี 2550-2554 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,775 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 12,483 ล้านบาทในปี 2554 บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินเพิ่มมากขึ้นซึ่งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและช่วยสนับสนุนความพยายามในการขยายธุรกิจของบริษัท บริษัทสามารถยกระดับสถานะทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยสะท้อนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 สินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับ 24,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของปี 2554
บริษัทได้เน้นการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2549 โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 72% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทพยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เนื่องจากสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จัดเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง บริษัทจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำรงธุรกิจและควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจาก 4.9% ในปี 2551 เป็น 2.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% เมื่อสิ้นปี 2554 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการขยายสินเชื่อจำนวนมาก
บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิ 204 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 109 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิรักษาระดับอยู่ที่ 205 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่สูงขึ้นจากผลกระทบของอุทกภัย บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองในปี 2554 จำนวน 126 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านบาทในปี 2553 เพื่อใช้สำรองสำหรับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 สอดคล้องกับการขยายตัวที่มากขึ้นของฐานสินเชื่อ โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 489 ล้านบาทในปี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 139% การปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่อจำนวนมาก รวมถึงการประหยัดจากขนาดจากต้นทุนการดำเนินงาน และการมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการประหยัดจากขนาดจากสินเชื่อที่เติบโตขึ้นและจากการสนับสนุนของธนาคารธนชาต อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ลดลงเป็น 13.3% ในปี 2555 จากระดับ 26.7% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่อไปอีกเป็น 9.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 การแข่งขันที่รุนแรงเป็นอุปสรรคต่อผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงและต้นทุนต่ำจากธนาคารธนชาตซึ่งเป็นบริษัทแม่ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำจากตลาดทุนโดยการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินด้วย แหล่งเงินต้นทุนต่ำช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายได้เป็น 4.5% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ณ งวดครึ่งแรกของปี 2556 เปรียบเทียบกับ 3.6% ในปี 2555 และจาก 3.0% ในปี 2554 โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROAA) ที่ระดับ 3.7% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 จาก 3.1% ในปี 2555 และ 1.9% ในปี 2554
ฐานทุนของบริษัททรุดลงจากการระดมทุนเชิงรุกโดยการกู้ยืมเพื่อขยายสินเชื่อแม้ว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการเพิ่มทุน 2 ครั้งล่าสุดแล้วก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 31.4% ในปี 2550 เป็น 13.4% ในปี 2553 และ 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับโครงสร้างทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็น 17.2% ณ สิ้นปี 2554 บริษัทใช้ความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีมากขึ้นในการขยายสินเชื่อในปี 2555 ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 13.0% ณ สิ้นปี 2555 ถึงแม้ว่าบริษัทจะเสริมฐานทุนในปี 2556 ด้วยการจ่ายหุ้นปันผล กระนั้นอัตราส่วนดังกล่าวก็ยังลดลงเป็น 11.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 อันเนื่องมาจากการขยายสินเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าว
บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารหลวงไทยซึ่งปัจจุบันคือธนาคารธนชาต ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ประมาณ 75% ของเงินกู้ยืมรวมของบริษัทเป็นการกู้ยืมจากธนาคารแม่ บริษัทได้ชำระเงินกู้ยืมส่วนใหญ่ทั้งที่ได้จากธนาคารธนชาตและสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยใช้เงินจากหุ้นกู้ที่เสนอขายในปี 2555 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทไม่มีเงินกู้ยืมจากธนาคารธนชาตเลย ทั้งนี้ บริษัทจะยังไม่ใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารธนชาตจนกว่าจะมีความจำเป็นด้านสภาพคล่อง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html