ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและพันธบัตรไม่มีประกันของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เป็นระดับ ?AA-? จากระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้ม ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจและการเงินของ บตท. ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านกฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 รัฐบาลยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนโดยการอนุมัติเงินเพิ่มทุนในปีงบประมาณ ด้วยอันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีแนวโน้มที่ดีหลังประสบความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้พอร์ตสินเชื่อโตขึ้น 3 เท่าจากปีก่อน นอกจากนี้ บตท. ยังมีกำไรติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีแม้จะมีความผันผวน อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีข้อจำกัดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การคงระดับและการเพิ่มขนาดของพอร์ตให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง และภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจในตลาดแรกที่ไม่เอื้ออำนวย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
บตท. ก่อตั้งในปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท และล่าสุดกระทรวงการคลังยังอนุมัติการเพิ่มทุนให้อีกจำนวน 130 ล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2557 ซึ่งเงินทุนดังกล่าวสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจาก 27,000 ล้านบาทเป็น 31,000 ล้านบาท คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีก 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท. ทั้งนี้ โครงสร้างคณะกรรมการของ บตท. มีความเหมาะสมในการรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจ
เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน ซึ่งประมาณ 80% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท. เป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังและขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน
บตท. มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นหลังจากสามารถบรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายประการ ตัวอย่างคือการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินพันธมิตรเป็นจำนวนมากและพันธมิตรดังกล่าวได้ขายพอร์ตสินเชื่อมาให้ บตท. ตั้งแต่ปี 2552-2556 โดย บตท. ได้สร้างยอดสินเชื่อคงค้างใหม่อีกประมาณ 152 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 392 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 ในปี 2555 บตท. ได้ซื้อสินเชื่อใหม่จากโครงการร่วมมือกับพันธมิตรรวม 3,256 ล้านบาท บตท. ยังมีแผนจะเพิ่มพันธมิตรใหม่มากขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลให้ บตท. มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1,732 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 4,756 ล้านบาทในปี 2555 และเป็น 4,599 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556
การควบคุมคุณภาพสินเชื่อเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ บตท. เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 ภายหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 318 ล้านบาทในปี 2550 แล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ก็ลดลงจาก 39.79% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 6.90% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.94% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 18.84% ในปี 2554 ในปี 2555 ผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของพอร์ตสินเชื่อทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 5.57% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 6.32% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับ 3.01% ของธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และระดับ 4.81% ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง อย่างไรก็ตาม สัดส่วน 71% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ บตท. เป็นสินเชื่อที่จัดซื้อก่อนปี 2549 ในขณะที่ 29% เป็นสินเชื่อที่ซื้อมาในปี 2552-2555 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินเชื่อที่จัดหามาในช่วงปี 2552-2555 ซึ่งเป็นช่วงที่สินเชื่อของ บตท. เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและการทำกำไรของ บตท. ในอนาคต
ในปี 2551 บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 และการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวขึ้นเป็น 4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 ล้านบาทในปี 2555 จากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับครึ่งแรกของปี 2556 บตท. มีกำไรสุทธิ 18 ล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เข้ามาจากพอร์ตสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 มีสัดส่วนคิดเป็น 84% ของเงินทุนรวม ในเดือนกรกฎาคม 2556 บตท. เพิ่มแหล่งเงินทุนโดยการออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท ทำให้ฐานเงินทุนที่มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นลดลงเหลือ 67% นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 บตท. วางแผนจะหาแหล่งเงินทุนจากการออกตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าและระยะเวลาของสินเชื่อที่ซื้อมา 2,000 ล้านบาท บตท.ประสบความสำเร็จในการออก MBS และตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-backed Securities -- ABS) ถึง 5 ครั้ง ซึ่งหากการออกตราสาร MBS และ ABS ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลบวกต่อ บตท. กล่าวคือ จะช่วยให้ บตท. สามารถทำตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและจะช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน และจะช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินของ บตท. ในปัจจุบัน
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html