ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนร้อยละ 60 ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ที่เสนอขาย และรวมกันแล้วไม่เกินกว่าจำนวน 300 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” (International Scale) จาก Standard and Poor’s นอกเหนือจากความแข็งแกร่งที่ได้รับจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเพิกถอนไม่ได้จากธนาคารกสิกรไทยแล้ว อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติทางธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และฐานทุนที่เข้มแข็งด้วยบางส่วน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิต นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกังวล 2 ประการ คือ ความสามารถในการรักษาสถานะทางธุรกิจของบริษัทหลังจากที่ฟื้นตัวจากการถดถอยในปี 2554 และคุณภาพของสินเชื่อที่เพิ่งขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัทจึงยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการจัดการประเด็นกังวลดังกล่าว ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและมีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง คาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คาดว่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
บริษัทกรุ๊ปลีสก่อตั้งในปี 2529 โดยตระกูลเหลืองรังษีเพื่อประกอบธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในปี 2533 นายขรรค์ชัย บุนปานและนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ได้ซื้อกิจการของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมและได้หันไปเน้นการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ในปี 2548 สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่มีการเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านบาทโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนผ่านการสนอขายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกพร้อมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 โดย Asia Partnership Fund (APF) ซึ่งเป็นกองทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมทั้งซื้อหุ้นผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย ส่งผลให้ APF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 62.4% ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 APF ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65.2% โดยถือหุ้นผ่าน Engine Holdings Asia Ptd., Ltd. (31.7%) A.P.F. Holdings Co., Ltd. (18%) และ Six Sis Ltd. (15.5%)
หลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 765 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 1,083 ล้านบาทในปี 2548 สินเชื่อคงค้างรักษาระดับอยู่ที่ 1,084 ล้านบาทในปี 2549 เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในปี 2548 และ 2549 พื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้พร้อมทั้งมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพอใจ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่หลายรายที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุกเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมีผลขาดทุนค่อนข้างมากและออกจากตลาดไป หลังจากปี 2549 สินเชื่อคงค้างของบริษัทกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 1,558 ล้านบาทในปี 2550 และ 2,266 ล้านบาทในปี 2551 การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2551 และ 2552 ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างลดลงมาอยู่ที่ 2,088 ล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 2,638 ล้านบาทหลังจากที่ตลาดฟื้นตัวในปี 2553
ในปี 2554 คณะผู้บริหารและพนักงานจำนวนหนึ่งได้ลาออกจากบริษัทหลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร นอกจากนี้ อุทกภัยที่รุนแรงในปลายปี 2554 ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายสินเชื่อ ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเป็น 2,207 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 ผู้ถือหุ้นใหญ่และพนักงานที่เหลือได้พยายามฟื้นฟูสถานะของบริษัทด้วยการจ้างคณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์เข้ามาบริหารงาน โดยคณะผู้บริหารชุดใหม่ได้ขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายและรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายเดิมที่มีอยู่ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,306 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 49.8% จากปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,719 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อคงค้าง บริษัทมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 10 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง
ในปี 2555 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด คือ GL Finance PLC (GLF) บริษัทได้ร่วมมือกับ Honda NCX ซึ่งเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศกัมพูชา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สินเชื่อคงค้างของ GLF ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% ของสินเชื่อรวมของบริษัท ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศว่าจะช่วยยกระดับผลประกอบการโดยรวมของบริษัทได้หรือไม่เพียงใด
สินเชื่อของบริษัทถดถอยลงค่อนข้างมากในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 7.8% ในปี 2553 เป็น 12.4% ในปี 2554 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเป็น 5.5% ในปี 2555 หลักจากความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้ปรับดีขึ้น คุณภาพสินเชื่อได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2556 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายอื่นเช่นกัน อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อโดยรวมของบริษัทเนื่องจากบริษัทมีการขยายสินเชื่อแบบเชิงรุกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 โดยกำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเป็น 357 ล้านบาทในปี 2555 จาก 215 ล้านบาทในปี 2554 การปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงมากของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตั้งสำรอง บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการตั้งสำรองในแต่ละชั้นลูกหนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยปรับลดลงจาก 8.5% ในปี 2554 เป็นเพียง 1.6% ในปี 2555 อัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมก็ปรับลดลงเป็น 5.3% ในปี 2555 จาก 13.2% ในปี 2554 แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตั้งสำรอง แต่คุณภาพสินเชื่อที่ปรับดีขึ้นก็ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงอัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 96.8% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 106.8% ในปี 2554 ผลประกอบการของบริษัทในปี 2556 ได้รับผลกระทบจากการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อและการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนที่สูงขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) อัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) จาก 5.1% ในปี 2555 ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 227 ล้านบาทสำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 ลดลง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยลดลงเป็น 7.0% สำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) จาก 12.3% ในปี 2555 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยของบริษัทก็อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจสินเชื่อสำหรับรถจักรยานยนต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเข้มงวดในนโยบายการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ให้มากขึ้น ซึ่งนโยบายที่เข้มงวดขึ้นจะช่วยปรับเพิ่มคุณภาพสินเชื่อและผลประกอบการโดยรวมให้ดีขึ้น
ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทปรับดีขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 บริษัทสามารถขยายฐานสินเชื่อด้วยการกู้ยืมเงินจากการสนับสนุนโดยความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้ว่าเงินกู้ยืมรวมของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 954 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 1,772 ล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมก็ยังคงแข็งแกร่งจากการปรับโครงสร้างทุนอย่างต่อเนื่องและผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแรง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 43% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 จาก 45.6% ในปี 2555 และ 57.9% ในปี 2554 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรงเพียงพอต่อการสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยงสูงของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่มากกว่าธุรกิจให้สินเชื่อยานพาหนะทั่วไปที่เน้นรถยนต์นั่งและรถกระบะ ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทจะเป็นเครื่องมือช่วยพยุงและดูดซับความเสี่ยงเนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีความเสี่ยงด้านคุณภาพเครดิตที่สูงซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html