ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่มีประกัน และแนวโน้ม “บ. ถิรไทย” ที่ “BBB+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 7, 2014 18:21 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรีย ซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและปรับเพิ่มอัตรากำไรจากการดำเนินงานได้ การดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่งจะสามารถช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารวมแผนการลงทุนของบริษัท คาดว่า อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะไม่สูงเกินกว่า 50%

บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดย ณ เดือนธันวาคม 2556 นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 32% บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์ และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ถึง100 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 กิโลโวลต์

บริษัทขยายการลงทุนสู่ธุรกิจประกอบและจำหน่ายรถไฮดรอลิกในปี 2554 ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด (E&S) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด และในปี 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 85% ใน บริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด (LDS) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กแปรรูปเพื่อเสริมการจัดหาถังหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่บริษัท ภายหลังการซื้อกิจการของ LDS บริษัทจะทำการขยายกำลังการผลิตของ LDS เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและงานเหล็กแปรรูป

รายได้รวมของบริษัทในปี 2556 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังซึ่งคิดเป็น 44% ของรายได้รวม รองลงมาคือรายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (40%) รายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งคือ E&S และ LDS (11%) และรายได้จากค่าบริการ (5%) ในปี 2556 ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (38% ของรายได้รวม) บริษัทเอกชน (35%) และลูกค้าภาคการส่งออก (11%) ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า 3 รายซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดโดยเฉลี่ย ดังนั้น บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า ลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าทั้ง 3 รายยังคงเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ารายสำคัญเนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐและมีประวัติการชำระเงินที่ดี

สำหรับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้น บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทยรายเดียวที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ได้ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเนื่องจากรูปแบบทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรือธุรกิจที่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น คุณภาพสินค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ผลงานของผู้ผลิตและประวัติการดำเนินงานเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จำเป็นในการตัดสินใจซื้อ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ การขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตเดิม และการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่ที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันคาดว่าจะลดความรุนแรงลงเนื่องจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ภายใต้อัตราภาษีใหม่ การนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีกำลังไฟฟ้าระหว่าง 200-300 เมกะโวลต์แอมแปร์จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็นอัตรา 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Siemens ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งทาง Siemens จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้แก่บริษัท

สำหรับหม้อแปลงระบบจำหน่ายนั้นปัจจุบันมีคู่แข่งในประเทศมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย เมื่อพิจารณาจากรายได้ในปี 2553-2554 แล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 คิดเป็นประมาณ 10%-13% ของมูลค่าตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ในปี 2555 บริษัทมียอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายลดลง ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเป็น 8% อย่างไรก็ตาม บริษัทมียอดขายหม้อแปลงระบบจำหน่ายเพิ่มขึ้น 27% ในปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สถานะทางการเงินของบริษัทในปี 2556 ปรับตัวดีขึ้น โดยการดำเนินงานฟื้นตัวจากผลประกอบการที่แย่ลงในปี 2555 รายได้รวมของบริษัทในปี 2556 อยู่ที่ 2,518 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 31.1% เมื่อเทียบกับยอด 1,921 ล้านบาทในปี 2555 รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าและบริษัทเอกชน นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งอีก 296 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 197 ล้านบาทในปี 2555 ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวนมากถึง 1,581 ล้านบาท โดยประมาณ 77% ของยอดขายที่รอการส่งมอบนี้มีกำหนดส่งมอบภายในปี 2557 และ ณ สิ้นปี 2556 บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลโครงการที่มีมูลค่ารวมประมาณ 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้ว บริษัทจะมีอัตราความสามารถในประมูลสำเร็จประมาณ 20%-25%

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2556 ฟื้นตัวดีขึ้น โดยอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 26.1% เทียบกับ 19.5% ในปี 2555 แต่ยังน้อยกว่าระดับ 30% ที่บริษัทสามารถทำได้ในช่วงปี 2553-2554 อัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าหม้อแปลงขนาดใหญ่และความผันผวนที่ลดลงของราคาวัตถุดิบ ทั้งนี้ กำไรขั้นต้นในปี 2555 ที่ตกต่ำมากมีสาเหตุมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังจากผู้ผลิตจากประเทศจีน ตลอดจนผลขาดทุนจากยอดสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศอินเดีย และการชะลอคำสั่งซื้อของลูกค้าบางรายเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2556 เท่ากับ 12.5% เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2555

บริษัทมีสภาพคล่องและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 14.8% ในปี 2555 เป็น 38.9% ในปี 2556 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 เท่าในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ระดับ 42.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 48.3% ณ สิ้นปี 2555 หนี้สินรวมลดลงส่วนหนึ่ง เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อบริษัทมีการลงทุนตามแผนการขยายงาน โดยบริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2558 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการกู้เงินเพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้มูลค่า 600 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2558 ด้วย

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) (TRT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRT156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ