ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำไปชำระหนี้เดิมและขยายธุรกิจ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและการเติบโตของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้
บริษัทน้ำตาลขอนแก่นก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 70.0% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 102,000 ตันอ้อยต่อวัน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นหีบอ้อย 7.7 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2555/2556 และผลิตน้ำตาลได้ 738,952 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.4% ในปีการผลิต 2555/2556 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 19.9% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 16.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.3%
ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย รายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าและเอทานอล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปีการเงิน 2550-2556 ในปีการเงิน 2556 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้รวม ในขณะที่ EBITDA จากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของ EBITDA รวมของบริษัท ปัจจุบันธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย โดยผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2555/2556 มีเพียง 35,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ทั้งนี้ โรงงานของบริษัทในทั้ง 2 ประเทศนี้ขาดทุน 58 ล้านบาทในปีการผลิต 2555/2556
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2556 อยู่ภายใต้แรงกดดันของราคาน้ำตาลที่ลดลงและปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บริษัทมีรายได้ลดลง 15% เป็น 18,941 ล้านบาท ในปีการเงิน 2556 จาก 22,212 ล้านบาท ในปีการเงิน 2555 จากการลดลงของปริมาณขายน้ำตาล 9.1% และการลดลงของราคาขายน้ำตาล 11% อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลช่วยบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำตาลได้ส่วนหนึ่ง รายได้เอทานอลปรับตัวสูงขึ้น 196.2% เป็น 1,961 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 19.7% เป็น 1,029 ล้านบาท EBITDA ในปีการเงิน 2556 ลดลง 25.8% เท่ากับ 3,399 ล้านบาท จากระดับ EBITDA สูงสุดในปีการเงิน 2555 ที่ 4,580 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 13.8% ของยอดขายรวมในปีการเงิน 2556 จาก 18.4% ในปีการเงิน 2555 เนื่องจากราคาขายน้ำตาลทรายอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ต้นทุนขายน้ำตาลของบริษัทยังสูงขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทลดลงมากกว่าการลดลงโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในปีการเงิน 2556 โดยมีสาเหตุจากปัญหาเครื่องจักรในโรงงานน้ำตาล
ผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปีการเงิน 2557 (พฤศจิกายน 2556 - มกราคม 2557) อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 25.0% ของยอดขายรวม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีการเงิน 2556 ที่ระดับ 14.8% ของยอดขายรวม อัตรากำไรที่ดีขึ้นเกิดจากต้นทุนการผลิตน้ำตาลที่ลดลงเพราะผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2556 นอกจากนี้ ธุรกิจเอทานอลซึ่งคิดเป็น 16%ของยอดขายรวมในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีการเงิน 2557 มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น การเติบโตของการบริโภคแก๊สโซฮอล์เป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ราคาขายเอทานอลปรับตัวสูงขึ้น ราคาอ้างอิงของเอทานอลในประเทศไทยช่วงเดือนตุลาคม ปี 2556 ถึง เดือนมกราคม ปี 2557 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 27.40 บาทต่อลิตร เปรียบเทียบกับราคาอ้างอิงเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันของปีการผลิตก่อนหน้าที่ระดับ 21.77 บาทต่อลิตร ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่เพิ่มสูงส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้น 21.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็น 986 ล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะลดลง 17.6%
อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 57.3% สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม (สิ้นปีงบการเงิน 2556) อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นในปีการเงิน 2556 เนื่องจากการลงทุนในอาคารสำนักงานให้เช่า การขยายกำลังการผลิตน้ำตาล และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังสูงขึ้นเป็น 60.3% ณ สิ้นเดือนมกราคม 2557 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยทำให้มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (Interest Coverage Ratio) ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 5.2 เท่า ในปีการเงิน 2556 และ 5.4 เท่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 คาดว่าธุรกิจน้ำตาลยังคงเผชิญสถานการณ์ราคาน้ำตาลระดับต่ำในปีการเงิน 2557 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ดีของกลุ่มเอทานอลและไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนน้ำตาลที่ลดลงเป็นปกติจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมจะสร้าง EBITDA ให้บริษัทระดับประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาทในปีการเงิน 2557 สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตที่ดำเนินการอยู่และแผนการซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณางบลงทุนของบริษัทดังกล่าว คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในปีถัดไป
ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2556/2557 ตั้งแต่เปิดหีบจนถึงกลางเดือนเมษายน 2557 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยมีจำนวน 102.8 ล้านตันอ้อย คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศไทยจนถึงสิ้นสุดปีการผลิต 2556/2557 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 105 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2555/2556 ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 109.2 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีการผลิต 2555/2556 ที่ระดับ 100.2 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกซึ่งหลังจากลดลงไปสู่ระดับ 14-15 เซนต์/ปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 17-18 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากภาวะภัยแล้งในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดของโลก
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html