ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A+” จากเดิม “A” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหารของบริษัท นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมและธุรกิจอาหารแบบแฟรนไชส์ รวมถึงนโยบายการบริหารสภาพคล่องที่ดีของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่อ่อนไหวของธุรกิจโรงแรมและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจจัดจำหน่าย รวมทั้งนโยบายการลงทุนของบริษัทที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มภาระหนี้ของบริษัทในอนาคต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะต้องบริหารจัดการสมดุลระหว่างการลงทุนและแหล่งเงินทุนอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงมากจนเกินไปและเพื่อรักษาคุณภาพเครดิตของบริษัทเอาไว้
บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลก่อตั้งในปี 2521 โดย Mr. William Ellwood Heinecke บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจโรงแรมและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 2) ธุรกิจอาหารบริการด่วน และ 3) ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า ในปี 2556 รายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 41.3% และ 37.1% ของรายได้รวม ตามลำดับ ในขณะที่ธุรกิจจัดจำหน่ายและธุรกิจพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสร้างรายได้คิดเป็น 10.4% และ 9.6% ของรายได้รวม ตามลำดับ
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 บริษัทมีโรงแรมภายใต้การบริหารของบริษัททั้งหมด 103 แห่งจำนวน 12,800 ห้อง ใน 14 ประเทศซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง โดยประกอบด้วยโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ 19 แห่ง (2,753 ห้อง) โรงแรมภายใต้การร่วมทุน 16 แห่ง (896 ห้อง) โรงแรมภายใต้การบริหารของบริษัท Oaks Hotels and Resorts Limited 44 แห่ง (5,897 ห้อง) และโรงแรมภายใต้การรับจ้างบริหารจัดการ 24 แห่ง (3,254 ห้อง) บริษัทบริหารและดำเนินงานโรงแรมเหล่านี้ภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Four Seasons, Marriott และ St. Regis และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Oaks, Elewana, Naladhu Avani และ Per AQUUM ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมของบริษัทดีขึ้นในปี 2556 โดยอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนเพิ่มขึ้น 6% จาก 6,035 บาทในปี 2555 เป็น 6,385 บาทในปี 2556 ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นจาก 66% ในปี 2555 เป็น 68% ในปี 2556 ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนเพิ่มขึ้นเป็น 4,372 บาทในปี 2556 จากอัตรา 3,977 บาทในปี 2555 สำหรับ Oaks นั้น อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนลดลง 7% จาก 5,160 บาทในปี 2555 เป็น 4,788 บาทในปี 2556 ซึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินบาท อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนของ Oaks เมื่อคิดเป็นเงินสกุลดอลลาร์ออสเตรเลียแล้วค่อนข้างคงที่ในปี 2556 ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 77% ในปี 2555 เป็น 78% ในปี 2556
สำหรับธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้น บริษัทดำเนินกิจการผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 MFG เป็นผู้ดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเป็นเจ้าของและผู้ประกอบการร้านอาหารแบบแฟรนไชส์จากต่างประเทศจำนวน 5 แบรนด์ ได้แก่ “สเวนเซ่นส์” “ซิซซ์เล่อร์” “แดรี่ ควีน” และ “เบอร์เกอร์ คิง” ส่วนแบรนด์สินค้าของบริษัทเอง ได้แก่ “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” “เดอะค็อฟฟีคลับ” “ริบส์ แอนด์ รัมพ์” “ไทยเอ็กเพรส” และ “Beijing Riverside and Courtyard (Riverside)” ในประเทศจีน ณ สิ้นปี 2556 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวมทั้งหมด 1,544 แห่ง ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วยร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของ 814 แห่ง และร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีก 730 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) (S&P, 30%) และบริษัท BreadTalk Group Limited (BreadTalk, 11%)
บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MINOR) ยังเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าด้วย โดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Esprit, Gap, Bossini, Charles & Keith, Tumi, Red Earth ฯลฯ
การกระจายตัวที่ดีของธุรกิจทำให้บริษัทยังคงมีผลประกอบการที่ดีทั้งที่เกิดภาวะการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศและปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 34,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเติบโตของรายได้ในทุกส่วนธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารบริการด่วนเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงที่สุดในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนซึ่งรวมรายได้ค่าแฟรนไชส์ของธุรกิจอาหารในปี 2557 เท่ากับ 14,309 ล้านบาท เติบโต 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่รายได้ในส่วนของธุรกิจโรงแรมรวมถึงธุรกิจสปาและธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมเติบโต 5% ในปี 2556 เป็น 12,878 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2555 การเติบโตของรายได้ในส่วนของธุรกิจโรงแรมที่อ่อนตัวลงส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการปิดทำการปรับปรุงโรงแรมบางแห่งที่บริษัทเป็นเจ้าของ
ในส่วนของการทำกำไร บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2556 เท่ากับ 8,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทยังคงอยู่ที่ 17.7% โครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นซึ่งเป็นผลจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้สิทธิ์ในใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในปี 2556 จำนวน 3,602 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 56.9% ในปี 2555 เป็น 49.7% ณ สิ้นปี 2556 สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับเพิ่มขึ้นจาก 6.1 เท่าในปี 2555 มาอยู่ที่ 7.7 เท่าในปี 2556 อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหนี้สินอยู่ที่ 25% ในปี 2556 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2555 ที่ 21.2% โดย ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนความยืดหยุ่นด้านสภาพคล่องของบริษัทซึ่งเพียงพอต่อภาระหนี้และดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 3,500 ล้านบาท
ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2556 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวส่งผลไม่มากนักในปี 2556 เมื่อพิจารณาจากรายงานของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ปริมาณของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวน 26.7 ล้านคนในปี 2556 เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตดังกล่าวชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ตัวเลขอัตราการเติบโตเป็นเพียงหลักเดียวที่ 6.7% ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อในปี 2557 เริ่มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมลดลง 5.9% เป็น 6.6 ล้านคน จาก 7 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกังวลต่อภาวะการบริโภคของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงด้วย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเติบโตเพียง 0.3% ในปี 2556 ก่อนที่จะหดตัวลง 1.5% ในเดือนมกราคมและ 2.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปัจจัยทั้ง 2 ประการจะส่งผลกระทบด้านลบต่อผลประกอบการและโอกาสในการเติบโตของบริษัท อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การกระจายตัวทางธุรกิจของบริษัทจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยไม่พึงปรารถนาดังกล่าวได้บางส่วน ในปี 2556 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมในประเทศ 18% มีรายได้จากธุรกิจอาหาร 30% และจากธุรกิจจัดจำหน่ายในประเทศ 10% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทจะช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายในประเทศได้ นอกจากนี้ หากปัญหาทางการเมืองสิ้นสุดลงภายในครึ่งแรกของปีหรือก่อนฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก็จะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังจะช่วยคลี่คลายบรรยากาศการบริโภคภายในประเทศให้เปลี่ยนจากลบมาเป็นบวกด้วย แม้จะเผชิญความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าผู้บริหารของบริษัทจะมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่ช่วยบรรเทาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
ภายใต้สมมติฐานเบื้องต้น ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างน้อย 6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2560 ในขณะเดียวกัน บริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมและธุรกิจอาหารแบบแฟรนไชส์ ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงกลยุทธ์การเติบโตเชิงรุกต่อไป บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 23,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินทุนภายในมาสนับสนุนการลงทุนบางส่วน อย่างไรก็ดี การลงทุนบางส่วนยังคงต้องมีการก่อหนี้ด้วย ดังนั้น คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะไม่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องเนื่องจากบริษัทมีวิธีการบริหารสภาพคล่องที่ระมัดระวัง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html