ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” แต่ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” เนื่องจากระดับการใช้เงินกู้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากการซื้อกิจการ บริษัท ซีพี โภคภัณฑ์ (CPP) ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน อันดับเครดิต “AA-” ยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย กลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ และความยืดหยุ่นทางการเงิน โดยที่ความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาดในสัตว์และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงฐานะการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางด้านโครงสร้างเงินทุนและปรับเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงินให้กลับสู่ระดับเดิม
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 43.71% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา
รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ รายได้จากกิจการในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้รวมในปี 2556 ในขณะที่รายได้จากกิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 29% ของรายได้รวม ตามด้วยรายได้จากประเทศเวียดนาม (14%) รายได้ส่วนที่เหลือมาจากกิจการในประเทศตุรกี ไต้หวัน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วน 1%-5% ของรายได้รวม ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งค่อนข้างมีเสถียรภาพเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้รวม รายได้จากธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีลักษณะผันผวนเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 32% ของรายได้รวม และธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 12% ของรายได้รวมในปี 2556
บริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์และพัฒนาช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทประกอบด้วยซุ้มขาย “ไก่ย่าง 5 ดาว” จำนวน 5,088 แห่ง ร้าน “เชสเตอร์ กริลล์” 188 แห่ง ร้าน “ซีพี เฟรช มาร์ท” 628 สาขา และร้าน “ซีพี เฟรช พลัส” “ซีพี คิทเช่น” และ “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” รวมอีก 12 สาขา ปัจจุบัน CPP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CPF อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตอาหาร 2 แห่งในประเทศจีน โดยแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองชิงหวงเต่าและอีกแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองชิงเต่า
ในปี 2556 ธุรกิจในประเทศไทยของบริษัทได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) ในฟาร์มกุ้ง โดยโรคระบาด EMS ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศไทยลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในปี 2556 ในขณะที่ธุรกิจหมูและไก่ในประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นจากภาวะอุปทานส่วนเกินตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2556 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกุ้งมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเกินกว่าการฟื้นตัวของธุรกิจสัตว์บก ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 2.6% ในปี 2556 จาก 4.3% ในปี 2555 กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง 81% เป็น 1,525 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2555 แต่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 24% เป็น 17,124 ล้านบาทในปี 2556 เทียบกับ 22,493 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 8,219 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,065 ล้านบาทในปี 2556
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวขึ้นมากแม้โรค EMS จะยังคงเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจกุ้งในประเทศไทย แต่ธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยมีผลประกอบการที่ดีเนื่องจากปัจจัยราคาสินค้าฟาร์มที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการส่งออกไก่ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาสินค้าฟาร์มที่ดีขึ้นในต่างประเทศ เช่น ตุรกี เวียดนาม และอินเดียก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้กำไรของบริษัทฟื้นตัวขึ้น โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 จาก 2.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 3,204 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 122 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 115% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 7,806 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2557
แม้ว่าบริษัทมีผลกำไรดีขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2557 แต่การลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงเป็น 60.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 จาก 54.8% ในปี 2555 และ 50.9% ในปี 2554 โดยเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มจาก 69,449 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 197,648 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2557 อันเนื่องมาจากปัจจัยหลักคือการใช้เงินกู้เพื่อซื้อกิจการของ CPP เมื่อต้นปี 2555 ในขณะที่บริษัทก็ประสบกับปัญหาราคาหมูและไก่ในประเทศไทยตกต่ำจากอุปทานส่วนเกินในปี 2555 อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดกุ้งในประเทศในปี 2556 ส่งผลทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ อย่างไรก็ดี สภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีเงินสดในมือและหลักทรัพย์ระยะสั้นจำนวนรวม 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีหุ้นที่ถืออยู่ใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยในสัดส่วน 32.25% โดย CPALL มีมูลค่าตลาดรวมของหุ้นอยู่ที่ประมาณ 430,000 ล้านบาท ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2557
ในอนาคตคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจกุ้งของบริษัทในประเทศไทยจะยังคงอ่อนแอเนื่องจากโรคระบาด EMS ยังคงเป็นปัญหาอยู่ แต่ในระยะสั้นผลการดำเนินงานของบริษัทจะมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่มิได้เพิ่มขึ้นมากและราคาสินค้าจากฟาร์มของสัตว์บกที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ตุรกี และเวียดนาม บริษัทได้เตรียมงบลงทุนสำหรับปี 2557 จำนวน 20,000 ล้านบาท จากสมมติฐาน EBITDA ที่ระดับ 30,000-35,000 ล้านบาทต่อปี และจำนวนหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละปีอยู่ระหว่าง 12,000-14,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2557-2559 คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง เงินสดส่วนเกินจะอยู่ในระดับต่ำในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% แต่ผลสำเร็จของแผนต้องอาศัยภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Carrefour ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกที่มีสาขาทั่วโลกได้ประกาศหยุดซื้อสินค้ากุ้งจากบริษัทเนื่องจากมีรายงานที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวหาว่าบริษัทซื้อปลาป่นซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์จากเรือประมงที่ใช้แรงงานทาสหรือมีการค้ามนุษย์ การระงับซื้อสินค้าจาก Carrefour มีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากเพราะรายได้จากการส่งออกกุ้งไป Carrefour คิดเป็น 0.03% ของรายได้รวม ในขณะที่บริษัทมีรายได้จากการส่งออกกุ้งไปยังประเทศสหรัฐฯ และประชาคมยุโรปคิดเป็นจำนวน 5,416 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.4% ของรายได้รวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยซึ่งรวมถึงบริษัทเองด้วย โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีรายชื่ออยู่ใน Tier 2 ซึ่งเป็นบัญชีดำเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานทาสมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และปัจจุบันหน่วยงานของประเทศสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนและจัดทำรายงานความคืบหน้าด้านปัญหาการค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานทาสในประเทศไทย ซึ่งข้อกล่าวหานี้อาจทำให้ประเทศไทยถูกปรับรายชื่อไปอยู่ในบัญชี Tier 3 ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าในสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทยได้
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html