บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 โดยปัจจุบันตระกูลจิราธิวัฒน์ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 63% บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทบริหารโรงแรมด้วยจำนวนห้องพัก 8,216 ห้องจากโรงแรม 43 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยและต่างประเทศ 5 ประเทศ บริษัทมีโรงแรมของตนเองทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย 1 แห่งเป็นเจ้าของในลักษณะของการร่วมทุน และ 1 แห่งอยู่ภายใต้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของคิดเป็นสัดส่วน 46% ของจำนวนห้องทั้งหมด โดยในช่วงปลายปี 2555 บริษัทได้ซื้อโรงแรม Centara Grand Island Resort & Spa Maldives และได้เปิดให้บริการโรงแรมที่เกาะมัลดีฟส์แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวในเดือนมีนาคม 2556 คือโรงแรม Centara Ras Fusi Resort & Spa ปัจจุบันบริษัทให้บริการโรงแรมจำนวน 250 ห้องในประเทศมัลดีฟส์ โดยบริหารงานโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เซ็นทารา แกรนด์” “เซ็นทารา” และ “เซ็นทรา”
บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด โดยปัจจุบัน บริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป ให้บริการอาหารบริการด่วนจำนวน 13 แบรนด์ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศจำนวน 11 แบรนด์และแบรนด์ของบริษัทเองจำนวน 2 แบรนด์ คือ “ริว ชาบู ชาบู” และ “เดอะ เทอเรส” โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศ 2 แบรนด์คือ “เทนยะ” และ “คัตสึยะ” ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวมทั้งหมด 767 แห่งทั่วประเทศ
โดยปกติแล้ว บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมในสัดส่วนที่น้อยกว่ารายได้จากธุรกิจอาหาร แต่ในด้านกระแสเงินสดนั้น ธุรกิจโรงแรมจะสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่าธุรกิจอาหารเนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมมีความผันผวนมากกว่า โดยผลการดำเนินงานทางการเงินอาจลดลงอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ ในปี 2556 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 47% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมทั้งหมด
เหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การประท้วงดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการเต็มปี 2556 ของบริษัท แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องและตามมาด้วยการทำรัฐประหารซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 9.9% อยู่ที่ 11.77 ล้านคนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 จากที่เคยมีอัตราเติบโตในระดับ 2 หลักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของทริสเรทติ้งเห็นว่าหลังจากการประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกเคหะสถานในเดือนมิถุนายน 2557 แล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาได้รับประโยชน์จากฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ของปีได้
อัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 69.4% ในปี 2555 เป็น 79.6% ในปี 2556 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีอัตราการเข้าพักโรงแรมที่ระดับ 72% เมื่อเทียบกับระดับ 80% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาห้องพักเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 3,777 บาทต่อวันในปี 2555 เป็น 4,462 บาทต่อวันในปี 2556 และ 5,186 บาทต่อวันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดจากราคาห้องพักที่สูงกว่าของโรงแรมใหม่ในมัลดีฟส์
ในปี 2556 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 18% สู่ระดับ 17,096 ล้านบาทเนื่องจากรายได้จากธุรกิจอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556 รายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น 10% จากการขยายสาขา ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 28% จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและผลประกอบการที่ดีของโรงแรมในมัลดีฟส์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 แม้ว่าผลประกอบการของโรงแรมในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง แต่รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 8,811 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของโรงแรมในต่างประเทศและรายได้ที่เติบโตขึ้นจากธุรกิจอาหาร โดยรายได้จากโรงแรมในประเทศคิดเป็น 77% ของรายได้จากโรงแรมทั้งหมด เทียบกับระดับ 91% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับ 19.6% ในปี 2556 เป็น 21.5% ในปี 2556 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับลดลงสู่ระดับ 21.4% เมื่อเทียบกับระดับ 23.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 2,390 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 2,938 ล้านบาทในปี 2556 และอยู่ที่ระดับ 1,404 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2555 เป็น 21% ในปี 2556 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากระดับ 5.7 เท่าในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 5.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากการชำระหนี้เงินกู้ยืมบางส่วน โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 57.4% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 สู่ระดับ 54.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557
บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ในระยะปานกลางคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 50%-55% ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความรอบคอบในการจัดการโครงสร้างเงินทุนและแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนใหม่
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html