ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการมีฐานการผลิตขนาดใหญ่และเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจนผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่ลดลง รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและการขึ้นภาษีสรรพสามิตในในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไปและจะสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานในธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้กลยุทธ์ในการควบรวมกิจการของบริษัทอาจเพิ่มความต้องการใช้เงินทุนในอนาคตได้ ซึ่งผลกระทบที่จะมีต่ออันดับเครดิตทริสเรทติ้งจะพิจารณาด้านต้นทุนและผลตอบแทนของแต่ละโครงการต่อไป
บริษัทไทยเบฟเวอเรจก่อตั้งในปี 2546 กลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย บริษัทยังได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในปี 2549 โดย ณ เดือนพฤษภาคม 2557 ตระกูลสิริวัฒนภักดีมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 68% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท
สถานะทางธุรกิจของบริษัทถือว่าเข้มแข็งมากโดยได้รับแรงหนุนจากสถานะผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงปริมาณของตลาดสุราสีในประเทศไทย (Off-trade) ประมาณ 95% และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์รายใหญ่อันดับ 2 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ในปี 2556 ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทประกอบด้วยฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง เครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัทในประเทศไทยประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 10 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์และอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย ตราสัญลักษณ์สินค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ “หงส์ทอง” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุรา “ช้าง” สำหรับเบียร์ “โออิชิ” สำหรับเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น และ “เอส” สำหรับเครื่องดื่มน้ำอัดลม การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่และเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและสามารถกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายไปยังร้านจำหน่ายที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ตลอดจนการขึ้นภาษีสรรพสามิตและกฎระเบียบที่เข้มงวดในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งไม่เป็นการส่งเสริมการบริโภค
บริษัทมีรายได้รวม 155,771 ล้านบาทในปี 2556 และ 81,068 ล้านบาทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ธุรกิจสุรายังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทซึ่งคิดเป็น 64% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจเบียร์สร้างรายได้ 22% ของรายได้รวม ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารสร้างรายได้ส่วนที่เหลือ ธุรกิจสุรายังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรของบริษัทโดยสร้างกำไรประมาณ 87% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)
รายได้ของบริษัทในปี 2556 ลดลง 3% จากปีก่อนอันเป็นผลจากปริมาณขายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ลดลง ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ที่ลดลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความขัดแย้งทางการเมืองในปีก่อน นอกจากนี้ การขึ้นภาษีสรรพสามิตในเดือนกันยายน 2556 ยังส่งผลในทางลบต่ออุปสงค์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย โดยในปี 2556 ปริมาณขายสุราและเบียร์ของบริษัทลดลงจากปีก่อน 2% และ 9% ตามลำดับ ในขณะที่ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของบริษัทซึ่งทำหน้าที่หลักในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมยังรายงานปริมาณขายที่ลดลง 32% และมีผลขาดทุนจากการดำเนินในงานในปี 2556 จากการสิ้นสุดสัญญากับ Pepsi Co. ในเดือนพฤศจิกายน 2555 นอกจากนี้ การออกสินค้าใหม่ “เอส” ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์สินค้าของบริษัทเองยังต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วย รายได้ของบริษัทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นราคาสุราและเบียร์เป็นสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจสุราจะยังคงเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในระยะปานกลาง โดยอุปสงค์ของการบริโภคสุราค่อนข้างเสถียรและคาดว่าจะค่อย ๆ เติบโตไปพร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ฟื้นตัว
สถานะทางการเงินของบริษัทถือว่าแข็งแกร่งพอควรซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่รักษาระดับอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และสภาพคล่องที่เพียงพอ ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อหุ้น 28.6% ใน Fraser and Neave Limited (F&N) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ในปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับระดับ 15%-16% ในช่วงปี 2553-2556 ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาขายและแผนการลดต้นทุน ธุรกิจสุรามีอัตรากำไรสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสายธุรกิจอื่นของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจเบียร์กลับมามีกำไรหลังจากที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์แสดงผลขาดทุนในปี 2556 อันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรง ส่วนธุรกิจอาหารมีอัตรากำไรค่อนข้างเสถียรที่ประมาณ 10% ในช่วงระยะปานกลางทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ซึ่งสะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะคงความพยายามในการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องคงค่าใช้จ่ายทางการตลาดและการส่งเสริมการขายไว้เพื่อสร้างตราสัญลักษณ์ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์
บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2555-2556 เพิ่มขึ้นจาก 17,861 ล้านบาทในปี 2554 โดยคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่คาดว่าจะปรับดีขึ้น สภาพคล่องของบริษัทเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2555 เป็น 28% ในปี 2556 และอยู่ที่ 38% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) บริษัทมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระ ประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2557 และอีก 13,000 ล้านบาทในปี 2558 สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากเงินสดจำนวน 2,963 ล้านบาทและสินค้าคงคลังประเภทสุราที่ผลิตแล้วเสร็จอีกจำนวน 9,746 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยได้รับวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 68,269 ล้านบาทด้วย
เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 หลังจากที่บริษัทซื้อหุ้น 28.6% ใน F&N อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับเงินสดจากการลดทุนของ F&N บริษัทได้นำเงินสดดังกล่าวไปใช้ชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดจำนวน 33,346 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2556 และอีกประมาณ 4,420 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเงินปันผลรับในช่วงปี 2556-2557 มาจ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนดอีกจำนวน 2,851 ล้านบาทด้วย เป็นผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 55% ในปี 2555 เป็น 41% ในปี 2556 และเป็น 36% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2559 โดยรวม 12,200 ล้านบาทเพื่อใช้บำรุงรักษาโรงงานผลิต รวมทั้งใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะค่อยๆ ลดลงและอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการชำระคืนเงินกู้จะแข็งแกร่งขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่วางแผนไว้และการจ่ายเงินปันผลที่คาดไว้ในระดับที่จะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงไปต่ำกว่า 35% ในช่วงปี 2557-2559
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html