บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) นอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งไฟฟ้า และสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยด้วย ในปี 2555 บริษัทได้ซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรวม 4 แห่งในจังหวัดอยุธยา ระยอง และปราจีนบุรี
ความต้องการที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยายังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่หลังจากบริเวณดังกล่าวประสบปัญหาอุทกภัยในปลายปี 2554 บริษัทขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาได้ 65 ไร่ในปี 2555 และ 93 ไร่ในปี 2556 เทียบกับระดับปกติที่ขายได้ 400-650 ไร่ต่อปีในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดปราจีนบุรีอีก 175 ไร่และในจังหวัดระยองอีก 55 ไร่ในปี 2556 ทำให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโดยรวมของบริษัทยังอยู่ในระดับปานกลางในปี 2556 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และปัญหาการเมืองในช่วงแรกของปีทำให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโดยรวมชะลอตัวลง บริษัทขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้รวม 202 ไร่ในครึ่งแรกของปี 2557 โดยประมาณ 80% เป็นการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินในจังหวัดอยุธยา ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีที่ดินคงเหลือในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับขายทั้งหมด 5,690 ไร่ โดยประมาณ 50% อยู่ในจังหวัดอยุธยา 25% อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี และอีก 25% อยู่ในจังหวัดระยอง
นอกจากธุรกิจสวนอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 41% ใน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาด้วย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 432 เมกะวัตต์ โดยการผลิตไฟฟ้าจำนวน 180 เมกะวัตต์เป็นการผลิตเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา อุทกภัยในปี 2554 ส่งผลให้บริษัทต้องปิดการดำเนินงานเพื่อซ่อมแซมโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมแซมและเปลี่ยนอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปี 2555 และโรงไฟฟ้าเริ่มทยอยกลับมาผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ ขายไฟฟ้ารวม 1,453 ล้านหน่วย (Gigawatt hours -- GWh) ในปี 2556 และ 1,091 ล้านหน่วยในครึ่งแรกของปี 2557 โดยเป็นการขายให้แก่ กฟผ. จำนวน 727 ล้านหน่วย และขายให้แก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมจำนวน 364 ล้านหน่วย โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็น 70% ของปริมาณที่ขายในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่แต่บริษัทก็สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ได้เพิ่มขึ้น โดยปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้นเป็น 364 ล้านหน่วยต่อไตรมาสในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เทียบกับในระดับปกติที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อไตรมาส ในปี 2554 การเพิ่มขึ้นของปริมาณจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. เป็นผลจากโรงไฟฟ้าขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP แห่งที่ 2 ของบริษัทได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ดังนั้นบริษัทจึงจำหน่ายไฟฟ้ารวม 180 เมกะวัตต์จากเดิม 90 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ตามสัญญา SPP ตั้งแต่กลางปี 2556 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. จำนวน 70 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP ประเภทสัญญา Non-Firm ตั้งแต่ต้นปี 2557 ด้วย ผลจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและการชะลอตัวของการขายที่ดินทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 80% ของ EBITDA รวมของบริษัท ที่เหลืออีก 20% มาจากธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและคอนโดมิเนียม
รายได้ของบริษัทฟื้นตัวขึ้นเป็น 9,155 ล้านบาทในปี 2556 จาก 6,171 ล้านบาทในปี 2555 เนื่องจากการขายคอนโดมิเนียมในประเทศจีนและการกลับมาดำเนินการผลิตได้ใหม่ของโรงไฟฟ้าขนาด 267 เมกะวัตต์เดิมรวมกับการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 156 เมกะวัตต์ แม้ว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในปี 2556 แต่ความสามารถในการทำกำไรกลับลดลงอย่างมากเพราะการผลิตของโรงไฟฟ้ายังเดินเครื่องได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และคอนโดมิเนียมที่ประเทศจีนก็มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับต่ำ อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของบริษัทลดลงเป็น 8.8% ในปี 2556 เทียบกับ 23.4% ในปี 2555 EBITDA ลดลง 41.9% เมื่อเทียบกับปี 2555 เป็น 774 ล้านบาทในปี 2556 ในระหว่างปี 2556 บริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 2 แห่งในประเทศจีนและได้บันทึกกำไรรวมจำนวน 487 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้บันทึกเงินชดเชยจากบริษัทประกันส่วนที่เหลืออีกจำนวน 963 ล้านบาทในปี 2556 รายการพิเศษเหล่านี้ทำให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิรวม 580 ล้านบาทในปี 2556 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 รายได้รวมของบริษัทยังคงอยู่ในระดับดีที่ 4,581 ล้านบาทแม้ว่ารายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะมีจำนวนเพียง 79 ล้านบาทก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นเป็น 13.2% แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตรากำไรปกติที่ 20%-30% โดยอัตรากำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำเพียง 9.9% เทียบกับระดับปกติที่บริษัทเคยทำได้ 15% ในช่วงปี 2552 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 สัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ลดลงยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยลดลงเพราะปกติธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจซึ่งให้อัตรากำไรสูง ในครึ่งแรกของปี 2557 EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านบาท จากเพียง 59 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังอ่อนแออยู่ที่ระดับ 1.76 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเพราะความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงและภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากการลงทุนที่ต่อเนื่อง เงินกู้จากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจาก 12,244 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 19,752 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 66.7% ณ เดือนมิถุนายน 2557 จากระดับ 60% ในระหว่างปี 2552-2553 ภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการลงทุนจำนวนมากในการสร้างโรงไฟฟ้าและซื้อนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในระหว่างปี 2555-2556
คาดว่าในอนาคตฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะทยอยฟื้นตัวโดยลำดับเพราะการมีรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่ตามปกติหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่รอโอนในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้ารวมจำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาทและโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ก็ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ดังนั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2557 บริษัทได้ประกาศแผนเพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่จำนวน 360 ล้านหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิเพิ่มทุนครบจำนวน บริษัทจะได้รับเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำเงินบางส่วนไปเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) จากปัจจุบัน 26% เป็นไม่เกิน 49% ภายใน 1 ปีข้างหน้า โดยผู้ถือหุ้นของ TICON ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TICON ได้ไม่เกิน 49.9% โดยได้รับการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท (Whitewash) นอกจากการลงทุนนี้แล้ว บริษัทยังวางงบลงทุนอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาทสำหรับการซื้อที่ดินและการพัฒนาพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ ขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP มูลค่า 4,700 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2559 การขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน TICON จะเพิ่มกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและช่วยให้บริษัทยิ่งลดการพึ่งพิงรายได้จากการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนสูงลงไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html