ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ที่ระดับ “AAA” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของ BAY สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มีเสถียรภาพในธุรกิจหลักของธนาคาร ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวมกิจการกับ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ที่กำลังถดถอยลงของ BAY ตามสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังคงเป็นข้อจำกัดที่สะท้อนอยู่ในการจัดอันดับเครดิตของธนาคารในครั้งนี้ด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและทางการเงินจากกลุ่ม MUFG ต่อไปในฐานะบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่ม นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่น่าจะดีขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ
BTMU เป็นธนาคารที่ถือหุ้น 100% โดย MUFG ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น BTMU ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 72.01% ของ BAY ภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญโดยสมัครใจ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2556 สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม MUFG ใน BAY ผ่านทาง BTMU เพิ่มขึ้นจาก 72.01% เป็น 76.88% ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่าง BAY กับ BTMU สาขากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ในขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิมที่ 20% ไว้ ทั้งนี้ BTMU ได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก Moody’s Investors Service ที่ระดับ “A1” แนวโน้ม “Stable” และจาก Standard and Poor’s ที่ระดับ “A+” แนวโน้ม “Stable” ณ เดือนธันวาคม 2557 โดยอันดับเครดิตของ BAY สะท้อนถึงการสนับสนุนและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มบริษัทแม่
BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์รวมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 9.2% และเงินรับฝาก 7.6% การควบรวมกิจการของ BTMU สาขากรุงเทพฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารในเดือนมกราคม 2558 จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางธุรกิจของ BAY ทั้งในแง่ของการเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สินเชื่อของ BTMU สาขากรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสินเชื่อคุณภาพดี ในขณะที่ BAY มีจุดแข็งในด้านสินเชื่อรายย่อยซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ภายหลังการควบรวม สินเชื่อของธนาคารจะเพิ่มขึ้นราวหนึ่งในสี่และมีสัดส่วนที่มีความสมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ BAY ยังมีโอกาสที่จะใช้ความสัมพันธ์ที่ BTMU สาขากรุงเทพฯ มีกับบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการขยายฐานลูกค้าไปสู่เครือข่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้น ตลอดจนเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ BAY แก่พนักงานที่ทำงานในบริษัทนั้น ๆ อีกด้วย
คุณภาพสินทรัพย์ของ BAY ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สินเชื่อด้อยคุณภาพโดยรวมมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 21 พันล้านบาท (2.6% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2555 มาอยู่ที่ระดับ 35 พันล้านบาท (3.5%) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 แม้ว่าจะมีการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพออกไปรวม 5.4 พันล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารและอัตราส่วนสำรองต่อสำรองขั้นต่ำซึ่งเคยอยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งลดลงสู่ระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกิน 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ณ เดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 34% ของเงินกองทุนที่รวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเล็กน้อย
ในปี 2556 BAY มีกำไรสุทธิ 12 พันล้านบาท ลดลง 18% จากปีก่อนหน้า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) เท่ากับ 1.1% ในปี 2556 ลดลงจาก 1.5% ในปี 2555 กำไรที่ลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองในปี 2556 หากตัดต้นทุนด้านเครดิตออกไปแล้ว กำไรก่อนค่าใช้จ่ายตั้งสำรองและภาษีในปี 2556 มีอัตราการเติบโตที่ 15% จากปีก่อนหน้า สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2557 BAY มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยที่ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ 0.86% และ 8.3% ตามลำดับ ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แต่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
ในส่วนของแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น BAY มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินที่ค่อนข้างสูง โดยมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 118% ณ เดือนกันยายน 2557 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่า 100% BAY มีสัดส่วนการพึ่งพาการกู้ยืมระยะยาวมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นเนื่องจากมีสัดส่วนการให้สินเชื่อเช่าซื้อซึ่งมีลักษณะเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่มากกว่าธนาคารอื่น
ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งและเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดย ณ เดือนกันยายน 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 11.2% มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง 11.2% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 14.9% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.5% 6% และ 8.5% ตามลำดับ อยู่พอสมควร
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html