ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรีย ซึ่งช่วยสนับสนุนบริษัทในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ของบริษัทต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสามารถปรับเพิ่มอัตรากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ โอกาสที่อันดับเครดิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัด ทว่าอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทมี EBITDA ที่ลดต่ำกว่า 300 ล้านบาทและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงเกินกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง
บริษัทถิรไทยก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (Market for Alternative Investment - mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 โดยนายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน ณ เดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 30% บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ (MVA) ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์ (kV) และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) ถึง 10 MVA ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 kV
นอกจากรายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจประกอบและจำหน่ายรถยกไฮดรอลิกในปี 2554 ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท ถิรไทย อี แอนด์ เอส จำกัด (E&S) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดด้วย และในปี 2555 บริษัทได้ซื้อหุ้น 85% ใน บริษัท แอล. ดี. เอส. เมทัล เวิร์ค จำกัด (LDS) เพื่อรองรับการจัดหาถังหม้อแปลงไฟฟ้าของบริษัทและขยายการดำเนินงานสู่ธุรกิจเหล็กแปรรูป
รายได้รวมของบริษัทในปี 2557 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายซึ่งคิดเป็น 37% ของรายได้รวม รองลงมาคือรายได้จากหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง (36%) รายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งคือ E&S และ LDS (23%) และรายได้จากค่าบริการ (3%) บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า โดยลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า 3 ราย ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทโดยเฉลี่ย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 35% ของรายได้รวม บริษัทเอกชน 34% และลูกค้าภาคการส่งออก 17% ลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าทั้ง 3 รายยังคงเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ารายสำคัญเนื่องจากมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐและมีประวัติการชำระเงินที่ดี สำหรับธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังนั้น ปัจจุบันมีผู้ผลิตในประเทศทั้งหมด 4 ราย บริษัทเป็น 1 ในผู้ผลิต 3 รายที่สามารถผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าได้ การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ การเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ การขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตเดิม และการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่ที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันลดความรุนแรงลงเล็กน้อยเนื่องจากการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (กำลังไฟฟ้าระหว่าง 200-300 MVA) จากเดิม 1% เป็น 10% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ในปี 2555 นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการมีสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์จากทาง Siemens ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่ง Siemens จะช่วยสนับสนุนในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังให้แก่บริษัท
สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายนั้นปัจจุบันมีคู่แข่งในประเทศมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของผู้ผลิตทั้งหมดเป็นผู้ผลิตรายเล็กซึ่งไม่สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพสูง ทำให้ไม่สามารถประมูลงานกับรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้ บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย เมื่อพิจารณารายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายแล้ว บริษัทอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นประมาณ 11% ของมูลค่าตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายในปี 2556
ในช่วงปี 2557 สถานะการเงินของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ โดยการประท้วงที่เริ่มในช่วงปลายปี 2556 ส่งผลกระทบให้งานประมูลของภาครัฐวิสาหกิจและโครงการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว ทั้งนี้ กฟภ. และ กฟผ. ไม่มีการเปิดประมูลงานมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จนถึงสิ้นปี 2557 รายได้ของบริษัทจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าและบริษัทเอกชนในปี 2557 ลดลง 46% และ 15% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2556 แต่รายได้จากลูกค้าหลัก 2 กลุ่มดังกล่าวที่ลดลงอย่างมากก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากรายได้จากบริษัทย่อยและจากยอดสั่งซื้อในภาคส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในปี 2557 อยู่ที่ 2,132 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2556
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนตัวลง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเท่ากับ 6.7% ในปี 2557 เทียบกับ 12.5% ในปี 2556 อัตรากำไรที่ลดลงเนื่องจากการลดลงในสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจและการแข่งขันทางด้านราคาระหว่างผู้ผลิตหม้อแปลงในประเทศเพื่อให้ได้รับงานภาคเอกชน ทั้งนี้ รายได้จากกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจการไฟฟ้ามีอัตรากำไรที่สูงกว่ารายได้ในกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงแม้รายได้ในปี 2557 จะลดลง ส่งผลให้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจาก 342 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 200 ล้านบาทในปี 2557
ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีหนี้สินรวมเท่ากับ 961 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 880 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 หนี้สินรวมที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตของบริษัท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45% จาก 42.6% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทลดลง บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเท่ากับ 20.8% ในปี 2557 จาก 38.9% ในปี 2556 และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 3.8 เท่าจาก 7.3 เท่าในปี 2556
ผลประกอบการของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าสามารถเปิดประมูลได้ตามปกติและการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัว ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวน 1,206 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 โดยประมาณ 84% ของยอดขายที่รอการส่งมอบนี้มีกำหนดส่งมอบภายในปี 2558 ณ สิ้นปี 2557 บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลโครงการที่มีมูลค่ารวมประมาณ 7,400 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้ว บริษัทมีอัตราความสามารถในประมูลสำเร็จประมาณ 20% ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2,400-2,700 ล้านบาท โดยมีเงินทุนจากการดำเนินงานและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายประมาณ 200 ล้านบาทและ 300 ล้านบาทต่อปีตามลำดับ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 40% ในปี 2558-2560 เนื่องจากแผนการลงทุนที่ลดลง
บริษัทมีหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในเดือนมิถุนายน 2558 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในวงเงินรวม 400 ล้านบาทเพื่อใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิม อีกทั้ง ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีเงินสดในมือ 570 ล้านบาทและวงเงินกู้ระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกอีกประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัท
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html