บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่ง ก่อตั้งในปี 2528 โดยการร่วมทุนระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทในกลุ่มกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation (SMBC) จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการทางการเงินสำหรับจัดซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะในอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาลีสซิ่งและเช่าซื้อ ต่อมาในปี 2547 บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจแฟคตอริ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปัจจุบันคือกลุ่มธนาคารกรุงเทพซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 35.88% SMBC ถือ 40% และ JA Mitsui Leasing ถือ 10% ทั้งธนาคารกรุงเทพและ SMBC ให้การสนับสนุนแก่บริษัททั้งในรูปการให้เงินกู้และการแนะนำลูกค้าให้บางส่วน ในปี 2553 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรของบริษัทอยู่ในอันดับที่ 4 จากจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ 10 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ในปี 2554 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงมาอยู่ที่อันดับ 7 และในปี 2555 และ 2556 ยังคงอยู่ที่อันดับ 7 แม้ว่าสินเชื่อจะเติบโตขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3,249 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 5,269 ล้านบาทในปี 2554 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 6,209 ล้านบาทในปี 2557 ธุรกิจของบริษัทกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยผ่านการให้บริการของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว ลูกค้าของบริษัทจึงจำกัดอยู่แต่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ขาดความหลากหลายในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่อื่น ๆ รายได้สุทธิของบริษัท (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ที่ 542 ล้านบาทในปี 2556 และเพิ่มขึ้นเป็น 606 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อคงค้างที่เติบโตขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 242 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 20.5% จากปีก่อน เป็นผลทำให้บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงที่ 16.49% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย 2.81% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 16.05% และ 2.71% ตามลำดับ ผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัทเป็นผลมาจากการมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันจะเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทในการที่จะรักษาอัตรากำไรให้คงอยู่ในระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้ บริษัทมีการบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่าที่มีประสิทธิภาพจนสามารถสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่ราคารถใช้แล้วลดลงจากผลกระทบของนโยบายรถคันแรกนั้น บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าได้ โดยในปี 2554 บริษัทมีกำไรอยู่ที่ 29 ล้านบาท ในปี 2555 อยู่ที่ 24 ล้านบาท และในปี 2556 อยู่ที่ 19 ล้านบาท สำหรับปี 2557 กำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้เช่าลดลงอยู่ที่ 13 ล้านบาท น้อยลงถึง 46% เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากการลดลงอย่างมากของราคารถยนต์มือสอง บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี โดยมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมในระดับ 2% ในปี 2555 และลดลงมาอยู่ที่ 0.7% ในปี 2556 ในปี 2557 อัตราส่วนดังกล่าวยังลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 0.4% เนื่องจากการควบคุมความเสี่ยงที่เข้มงวด ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทริสเรทติ้งจะจับตาดูคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมลงก็จะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทได้
ทั้งธนาคารกรุงเทพและบริษัทต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จำกัดการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งสินเชื่อที่จะให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ หรือไม่เกิน 25% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ผลจากกฎระเบียบดังกล่าวทำให้ความยืดหยุ่นในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากในอดีตบริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา บริษัทได้กระจายแหล่งกู้ยืมไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้นรวมถึงการออกตราสารหนี้ในตลาดทุน บริษัทเริ่มมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปี 2553 ออกหุ้นกู้ในปี 2554 และออก Shogun Bonds 3 ครั้งมูลค่ารวม 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2555-2557 ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้เพียง 5.9% จากธนาคารกรุงเทพ และ 6.4% จาก SMBC ของจำนวนหนี้สินรวม 6,750 ล้านบาท บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากการมีเงินผ่อนชำระรายเดือนจากลูกค้า และยังมีวงเงินสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพที่เก็บเอาไว้ใช้เป็นเงินทุนแหล่งสุดท้ายในกรณีที่มีความต้องการเพิ่มสภาพคล่องในอนาคตด้วย
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html