ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” และกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตให้เป็น “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” แทน
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพการเป็นบริษัทร่วมของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่หลากหลายและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์และความสามารถอันสม่ำเสมอของบริษัทในการสร้างผลกำไร รวมถึงการมีสาขาที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบจากจุดแข็งเหล่านี้ถูกลดทอนโดยปัจจัยกดดัน 3 ประการ ได้แก่ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ความยืดหยุ่นทางการเงินที่จำกัดของบริษัท และส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของสินเชื่อคงค้างที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สะท้อนผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนต่อทิศทางธุรกิจของบริษัทและความช่วยเหลือจากผู้ถือหุ้นใหญ่หลังจากที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท อนุมัติการขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในบริษัทเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 โดยกระบวนการในการขายสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวน่าจะใช้เวลานานกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดไว้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” เป็นผลจากประกาศของบริษัท ไมด้า แอสเซ็ท ที่ระบุจะขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในบริษัท ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนต่อทิศทางธุรกิจและความช่วยเหลือจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับเครดิตอาจได้รับการยืนยันอีกครั้งหากบริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและดำรงผลการดำเนินงานทางการเงินด้วยการมีโครงสร้างฐานทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม สถานะความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลงหากมีปัจจัยที่จะทำให้คุณภาพสินทรัพย์และสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลง
บริษัทไมด้า ลิสซิ่ง ก่อตั้งในปี 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วอยู่ที่ 484 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท ได้ประกาศขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในบริษัท หรือคิดเป็น 46.98% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขว่าราคาขายจะต้องไม่ต่ำกว่า 2.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ระหว่างเดือนธันวาคม 2557 จนถึงเดือนมกราคม 2558 บริษัทไมด้า แอสเซ็ท ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในบริษัทลงจาก 60% เป็น 46.98% โดยทยอยขายหุ้นของบริษัทที่บริษัท ไมด้า แอสเซ็ทถืออยู่รวม 13.02% ทั้งนี้ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท ต้องการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทเพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับมุ่งเน้นการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ไมด้า แอสเซ็ท
นับตั้งแต่การก่อตั้ง บริษัทเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วเป็นหลัก ปัจจุบันตลาดหลักของบริษัทคือสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วที่ผ่านการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยมูลค่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2,500 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างเท่ากับ 2,503 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 99% และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสอง (หรือสินเชื่อ Floor Plan) อีก 1% โดยล่าสุดบริษัทมีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 2,511 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทแกว่งตัวขึ้นลงจาก 3% ในปี 2553 ขึ้นไปเป็น 3.8% ในปี 2554 แล้วลดลงเหลือ 2.3% ในปี 2555 และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.6% ในปี 2556 จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2556 ทำให้คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2555 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2557 โดยเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 4.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม และ 4.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน การตัดหนี้สูญในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ช่วยลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ณ สิ้นปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นมาอีกที่ระดับ 4.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ปัจจุบันบริษัทได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการติดตามหนี้สิน รวมถึงการปรับปรุงนโยบายการให้สินเชื่อและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อ โดยทริสเรทติ้งจะคอยติดตามผลจากความพยายามดังกล่าวต่อไป
ในปี 2554 และปี 2555 รัฐบาลออกมาตรการคืนภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกซึ่งกลายเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถยนต์ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลทำให้ราคารถยนต์มือสองในตลาดตกต่ำเป็นอย่างมากเพราะผู้บริโภคหันไปซื้อรถยนต์คันแรกแทนเพื่อใช้สิทธิในการขอคืนภาษี ในปี 2556 ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทลดต่ำลง โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 112 ล้านบาท ลดลง 16% จาก 134 ล้านบาทในปี 2555 ในปี 2557 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงลดลงจากกำไรสุทธิที่ลดลงเป็น 87 ล้านบาท หรือลดลง 22% จากปี 2556 การลดลงของกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานซึ่งรวมผลขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขายที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 14% โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 250 ล้านบาทในปี 2557 จาก 219 ล้านบาทในปี 2556 ซึ่งผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการที่ราคารถมือสองปรับตัวลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญถึง 52 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งสูงมากกว่ามูลค่าการตั้งสำรองฯ ในปี 2556 ที่ระดับ 37 ล้านบาทถึงเกือบ 2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่อเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อรวมในปี 2557 ลดลงเป็น 2.3% จาก 2.6% ในปี 2556 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.3% ในปี 2557 จาก 4.2% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 24 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสแรกของปี 2557
นับตั้งแต่ปี 2553 ฐานทุนของบริษัทค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 54.6% ณ สิ้นปี 2557 จาก 38.6% ณ สิ้นปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการทำกำไรอย่างต่อเนื่องของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าบริษัทมีฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในอนาคตหากบริษัทไม่ใช้เงินกู้เพิ่มเติม การขยายฐานสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญจะเป็นความท้าทายที่สำคัญของบริษัท โดยในขณะนี้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่แน่นอนเหมือนคู่แข่งรายอื่น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังหวังว่าบริษัทจะสามารถดำรงฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของสภาวะเศรษฐกิจที่สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ก็อาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญได้
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html