ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตที่มั่นคงและแน่นอนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานซึ่งเกิดจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต ตลอดจนการบริโภคที่ชะลอตัว และการลงทุนขนาดใหญ่ในสัมปทานทางด่วนโครงการใหม่ ทั้งนี้ การควบบริษัทระหว่างบริษัทและ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์สถานะอันดับเครดิตเพิ่มเติมต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทควรดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงการลงทุน ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับคุณภาพเครดิตเอาไว้ ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดเนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการลงทุนตามแผน อย่างไรก็ดี การลงทุนที่ใช้การก่อหนี้ในระดับสูงจะส่งผลลบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัท
บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทั้งนี้ ทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. จึงเป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด บริษัทและ กทพ. มีการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางระหว่างกันในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ในเขตเมือง (ส่วน A และ B) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนหมดอายุสัมปทาน สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. คือ 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. สำหรับในเขตนอกเมือง ในขณะที่ส่วน C ส่วน D และ ส่วน C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ. นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ส่วน SOE) ด้วย โดยสัญญาสัมปทานเป็นแบบระบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีและมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน ทั้งนี้ โครงการมีมูลค่าการลงทุน 25,491 ล้านบาท บริษัทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างนั้นเป็นไปตามแผนของบริษัท โดยบริษัทจะได้รับรายได้ค่าผ่านทางส่วน SOE 100%
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลจากการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนเครือข่ายทางด่วนของบริษัท ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี ส่วนในปี 2557 ปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.104 ล้านเที่ยวต่อวันในปี 2557 เทียบกับ 1.100 ล้านเที่ยวต่อวันในปี 2556 อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงปลายปี 2556 ส่งผลให้รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันเติบโต 5.6% ในปี 2557 เป็น 23.3 ล้านบาทต่อวัน สำหรับ 5 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทรายงานปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1.130 ล้านเที่ยวต่อวันหลังจากปัญหาทางการเมืองสงบลงและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันก็เติบโต 6.1% เป็น 23.9 ล้านบาท
ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง แม้บริษัทจะมีอัตรากำไรที่สูง แต่ก็มีภาระหนี้จากการลงทุนในระดับสูงเช่นกันซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจทางด่วน ในปี 2557 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 8,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน สำหรับไตรมาสแรกของปี 2558 รายได้ค่าผ่านทางของบริษัทเพิ่มขึ้น 7.4% เป็น 2,196 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณการจราจรที่เติบโตบนระบบทางด่วนของบริษัททุกเส้นทาง อัตรากำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ในระดับสูงระหว่าง 78%-80% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงซึ่งสะท้อนภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการ SOE ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีหนี้สินรวม 30,513 ล้านบาท โดยมีเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 57.9% ความสามาถในการทำกำไรของบริษัทหนุนสภาพคล่องของบริษัทให้อยู่ในระดับดี บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 20% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในไตรมาสแรกของปี 2558 ในขณะที่มีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 11.3 เท่า
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ทางด่วนยังมีแนวโน้มในทางบวกด้วยอัตราการเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑลและการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าผ่านทางของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 3%-5% ต่อไปในระหว่างปี 2558-2560 การเปิดใช้ทางด่วนส่วน SOE ในช่วงปลายปี 2559 จะช่วยให้รายได้ของบริษัทเติบโตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของทางด่วนเส้นใหม่ยังมีไม่มากนักในระยะแรกเพราะต้องใช้เวลาในการเพิ่มการจราจรบนเส้นทาง จากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ บริษัทได้รับการคาดหมายให้มีเงินทุนจากการดำเนินงานที่อย่างน้อย 6,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2558-2560 ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าเพียงพอสำหรับภาระหนี้และการลงทุนตามแผนของบริษัท
ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการควบบริษัทกับ BMCL ซึ่งทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทใหม่จะมีความแข็งแรงโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสินทรัพย์ที่มีคุณภาพทั้งทางด่วนและระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนสัญญาการให้บริการในระยะยาว และโอกาสการเติบโตจากธุรกิจทั้งจากความต้องการใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในข่ายผู้มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของภาครัฐอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังการควบบริษัท สถานะการเงินโดยรวมของบริษัทจะอ่อนตัวลงจากเดิมจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวกว่าของธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ดิน อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ธุรกิจมีความสามารถที่จะชำระหนี้ของตนเองได้ ฐานะการเงินของบริษัทใหม่จะสามารถสนับสนุนโครงการลงทุนทั้งทางด่วนส่วน SOE และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทั้งนี้ การรวมธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินจะช่วยให้บริษัทรักษาระดับผลประกอบการให้สม่ำเสมอได้ในขณะที่อายุสัมปทานของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และ C กำลังจะหมดลง อันดับเครดิตของบริษัทใหม่จะขึ้นอยู่กับทิศทางการดำเนินงานและโครงสร้างของบริษัท ปัจจัยกังวลในการควบบริษัทคือทั้ง 2 บริษัทต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและจากเจ้าหนี้ของทั้ง 2 บริษัทเสียก่อน โดยในส่วนของเจ้าหนี้นั้น บริษัทได้จัดเตรียมวงเงินเอาไว้รองรับการไถ่ถอนหนี้คืนอย่างเพียงพอแล้ว
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html