ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2561 ที่ระดับ “AA-” และคงอันดับเครดิตองค์กรและพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บตท. ที่ระดับ “AA-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ บตท. ที่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ยังสะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีหลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. มีข้อจำกัดจากความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ การรักษาระดับเงินทุนให้เพียงพอ และการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อรองรับการขยายพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากระหว่างปี 2554-2557
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งสามารถซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บตท.สามารถที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ และรักษาระดับเงินกองทุนที่เพียงพอเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บตท. สามารถที่จะปรับลงได้หาก บตท. มีสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
บตท. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านกฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 อีกทั้งรัฐบาลยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนโดยการอนุมัติเงินเพิ่มทุนให้แก่ บตท. ในปีงบประมาณ 2557 ด้วย
บตท. ก่อตั้งในปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท และล่าสุดกระทรวงการคลังยังอนุมัติการเพิ่มทุนให้อีกจำนวน 130 ล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2557 คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท. ทั้งนี้ โครงสร้างคณะกรรมการ บตท. ได้รับการจัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพันธกิจ
เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท. เป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง จากนั้นจึงขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน
บตท. มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นหลังจากสามารถบรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายประการ ดังเห็นได้จากยอดสินเชื่อในปี 2557 ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2556 และมีกำไรติดต่อกัน 7 ปีแม้จะมีความผันผวนด้านรายได้ก็ตาม นอกจากนี้ การขยายความร่วมมือกับสถาบันการเงินพันธมิตรหลายแห่ง ทำให้พันธมิตรดังกล่าวขายพอร์ตสินเชื่อให้ บตท. มากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2557 บตท. มียอดสินเชื่อใหม่เข้ามามากถึง 16,805 ล้านบาท ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1,732 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 8,610 ล้านบาทในปี 2556 และ ณ สิ้นปี 2557 ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นถึง 88% จากสิ้นปี 2556 มาอยู่ที่ 16,191 ล้านบาท
ในอดีต อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเคยสูงระดับเกือบ 40% เนื่องจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาที่อยู่ที่ 5.6% ในปี 2555, 3.3% ในปี 2556 และ 2.4% ในปี 2557 เป็นผลมาจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ที่ระดับ 2.4% ณ เดือนธันวาคม 2557 เป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 2.9% ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 แห่งด้วย อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน บตท. ยังคงต้องพิสูจน์ว่าจะสามารถควบคุมคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อใหม่ไว้ได้
ความสามารถในการทำกำไรของ บตท. ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดย บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงานและการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวเป็น 4 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 ล้านบาทในปี 2555 จากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2556 บตท. มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 66% เป็น 26 ล้านบาท ในช่วงปี 2557 ผลกำไรสุทธิยังเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเป็น 64 ล้านบาท ตามผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อที่โตขึ้น
ในอดีต ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น ภายหลังจากการออกพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันและตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) ก็ทำให้แหล่งเงินทุนจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นเหลือเพียง 62% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 บตท. ยังออกพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 1,650 ล้านบาทและ MBS อีก 3,200 ล้านบาทด้วย ซึ่งทำให้สัดส่วนแหล่งเงินทุนระยะยาวมีมากขึ้น และทำให้แหล่งเงินทุนสอดคล้องกับระยะเวลาของสินเชื่อที่ซื้อมากขึ้น
บตท. สามารถดำเนินการตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน บตท. ประสบความสำเร็จในการออก MBS และตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-backed Securities -- ABS) ถึง 7 ครั้ง มูลค่ารวม 6,614 ล้านบาท การออกตราสารดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนและช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของ บตท. ล่าสุด บตท. จะออกพันธบัตรชุดใหม่มูลค่า 1,500 ล้านบาทเพื่อนำรายได้ไปใช้ชำระคืนหนี้เดิม รวมทั้งใช้ซื้อพอร์ตสินเชื่อใหม่ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
บตท. มีการขยายพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากโดยการใช้เงินทุนที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงจาก 77.7% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 13.8% ณ เดือนมิถุนายน 2557 อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 36.3% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 5.5% ในปี 2557 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า บตท. จะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอนาคตได้อย่างเพียงพอ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html