ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันของ ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทด้วย โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตลอดจนตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงการเข้าซื้อกิจการ Bumble Bee Holdco S.C.A. (Bumble Bee) ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งต่าง ๆ ดังกล่าวของบริษัทถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก
พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 สืบเนื่องจากประกาศของบริษัทเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ซึ่งระบุว่าบริษัทแสดงความประสงค์จะซื้อหุ้นทั้งหมดของ Bumble Bee มูลค่ารวม 1,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยตลาดส่งออกที่กระจายตัวและสินค้าที่หลากหลายน่าจะช่วยลดความผันผวนของกระแสรายได้ในช่วงที่ต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้งมีความผันผวนและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากการควบรวมกิจการ Bumble Bee เป็นไปอย่างราบรื่นและส่งผลให้ความสามารถของกิจการและสถานะการเงินของทั้งกลุ่มบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากกลุ่มบริษัทมีผลประกอบการต่ำกว่าที่คาดไว้ โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลจันศิริ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก สินค้าของบริษัทครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากปลาทูน่า กุ้ง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในปี 2557 บริษัทมียอดขายจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 44% ของยอดขายรวม กุ้งแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนรายได้เป็นอันดับ 2 ของยอดขายรวม (24%) รองลงมาคือ อาหารสัตว์ (7%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล (5%) ปลาแซลมอน (5%) และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและอื่นๆ (15%)
ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตปลาทูน่าประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าทั่วโลกที่ประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี บริษัทมีฐานการผลิตใน 7 ประเทศซึ่งครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก โดยฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา กาน่า และซีเชลส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ฝรั่งเศส และปาปัวนิวกินีด้วย ในปี 2557 ตลาดหลักของบริษัทคือสหรัฐอเมริกาซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 44% ของรายได้รวม รองลงมาคือสหภาพยุโรป 29% ประเทศไทย 7% และประเทศญี่ปุ่น 7%
ในปี 2557 บริษัทซื้อกิจการของ MerAlliance SAS (MerAliance) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาแซลมอนรมควันรายใหญ่อันดับ 4 ในยุโรป และ King Oscar AS (King Oscar) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาซาร์ดีนระดับพรีเมี่ยม นอกจากนี้ บริษัทย่อยของบริษัทยังได้เข้าซื้อสินทรัพย์ของ Orion Seafood International (Orion) ซึ่งเป็นผู้จัดหาสินค้ากุ้งมังกร (ล็อบสเตอร์) รายใหญ่ของโลกด้วย ซึ่งการลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลักของบริษัทตลอดจนช่วยขยายตลาดและเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ
ถึงแม้บริษัทจะเผชิญกับความผันผวนของราคาปลาทูน่าและปัญหาโรค Early Mortality Syndrome (EMS) ที่ยังคงระบาดในฟาร์มกุ้งในประเทศไทย แต่บริษัทก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากในปี 2557 จากที่ตกต่ำในปี 2556 บริษัทมีรายได้เท่ากับ 121,402 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับปี 2556 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจกุ้ง ปลาแซลมอน อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย ปริมาณกุ้งในหลาย ๆ ประเทศซึ่งรวมถึงไทยยังคงมีจำกัดจากปัญหาโรคระบาด EMS อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกามีเครือข่ายในการจัดหากุ้งได้ทั่วโลก ทำให้สามารถจัดหากุ้งจากประเทศที่ปลอดโรคได้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.6% ในปี 2556 เป็น 15.7% ในปี 2557 เนื่องจากธุรกิจปลาทูน่าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นและธุรกิจอาหารสัตว์ที่กำไรปรับตัวดีขึ้นหลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2557 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.5% ในปี 2556 เป็น 7.8% ในปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น 37% จากปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 10,715 ล้านบาทในปี 2557 ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 6.4 เท่าในปี 2557 เทียบกับระดับ 4-4.7 เท่าในช่วงปี 2554-2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับ 17.7% ในปี 2557 เทียบกับระดับ 15.4%-24.4% ในช่วงปี 2554-2556
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทเผชิญกับความท้าทายในเรื่องราคาปลาทูน่าและกุ้งที่ลดลง ทั้งนี้ ราคาปลาทูน่าลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,010 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนมีนาคม 2558 ในขณะเดียวกัน ราคาเฉลี่ยของกุ้งในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ก็เท่ากับ 192 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ลดลงจากระดับ 218 บาทต่อ กก. ในปี 2556 และ 223 บาทต่อ กก. ในปี 2557 นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลยูโรเมื่อเทียบกับเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากก็ส่งผลลบต่อรายได้จากบริษัทย่อยในยุโรปเมื่อแปลงค่าเงินสกุลยูโรเป็นเงินบาท รายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 อยู่ที่ระดับ 28,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอน กุ้ง ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอร์เรลได้มากขึ้นแม้ปริมาณขายและราคาของสินค้าปลาทูน่าจะลดลงก็ตาม การปรับตัวลดลงของราคากุ้งทั่วโลกส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% ในไตรมาสแรกของปี 2558 เทียบกับ 7.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2557
ในเดือนธันวาคม 2557 บริษัทประกาศว่าจะซื้อหุ้นทั้งหมดของ Bumble Bee มูลค่ารวม 1,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 49,830 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) การซื้อกิจการในครั้งนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตการควบรวมกิจการภายใต้กฏหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 การดำเนินการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกรรมดังกล่าวนั้น คณะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนรวมไม่เกิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 13,200 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือจำนวน 1,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 36,630 ล้านบาท) นั้นจะจัดหาเงินทุนจากการกู้ยืมเพิ่มเติม ภายหลังจากการควบรวมกิจการ Bumble Bee อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 55% เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีแผนการลงทุนที่ระดับ 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2560 ด้วยระดับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 14,000-16,000 ล้านบาทต่อปีภายหลังการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวสู่ระดับปรกติภายใน 1-2 ปีข้างหน้า
Bumble Bee เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าปลาทูน่ารายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้นำของธุรกิจอาหารทะเลในประเทศแคนาดา การซื้อกิจการ Bumble Bee เป็นไปตามกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลภายใต้ตราสินค้าของตนเอง ความสำเร็จในการรวมกิจการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้าที่ให้อัตรากำไรสูงให้แก่บริษัทมากขึ้นและช่วยเสริมสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการรวมกิจการในครั้งนี้ในด้านการจัดหาวัตถุดิบ/การผลิต การประหยัดต้นทุน การร่วมกันคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดจนประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
ในช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ใบเหลืองและออกประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยเรื่องการไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในการทำประมงตามหลักการสากล (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing; IUU) โดยให้เวลาประเทศไทย 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป หากปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะส่งผลให้สินค้าประมงของไทยไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนักเนื่องจากบริษัทมียอดขายสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรปเพียงประมาณ 7% ของรายได้รวมของบริษัทเท่านั้น
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html