ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. น้ำตาลขอนแก่น” ที่ “A/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 23, 2015 13:11 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนความต้องการที่แข็งแกร่งในธุรกิจเอทานอล และรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลบางส่วน

ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในภาวะที่ราคาน้ำตาลยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและกระแสเงินสดที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแอต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ณ เดือนเมษายน 2558 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 70.3% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทยโดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2558 เท่ากับ 110,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 8.8 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2557/2558 และผลิตน้ำตาลได้ 914,458 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.3% ในปีการผลิต 2557/2558 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 19.5% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 14.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.2%

ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล ในช่วงปีการเงิน 2556-2557 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 18% ของรายได้รวมของบริษัท

นอกเหนือจากธุรกิจผลิตน้ำตาลในประเทศไทยแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการเงิน 2553 เงินลงทุนในประเทศลาวและกัมพูชาโดยประมาณเท่ากับ 5,200 ล้านบาท ปัจจุบันผลผลิตน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ ผลผลิตอ้อยในประเทศลาวดีขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตอ้อยในประเทศกัมพูชายังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2557/2558 จึงมีเพียง 35,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย นอกจากนี้ การดำเนินงานของบริษัทในประเทศลาวและกัมพูชายังลดลงในปีการเงิน 2558 จากการปรับลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำตาล บริษัทในประเทศลาวและกัมพูชาจึงยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนโดยขาดทุนจำนวน 175 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2558

จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลดลงทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2557 อยู่ในระดับปานกลาง บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% เป็น 19,185 ล้านบาทในปีการเงิน 2557 จาก 18,941 ล้านบาทในปีการเงิน 2556 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 21% ในปีการเงิน 2556 มาอยู่ที่ระดับ 24.7% ในปีการเงิน 2557 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลทรายดิบจะลดลง 6% ในปีการเงิน 2557 แต่ต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่เพิ่มขึ้นและการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่ดียังมาจากอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจพลังงานที่แข็งแกร่ง โดยในปีการเงิน 2557 การเติบโตของความต้องการใช้เอทานอลในประเทศส่งผลทำให้ราคาขายอ้างอิงของเอทานอลเพิ่มขึ้น 7.1% มาอยู่ที่ระดับ 27.22 บาทต่อลิตรในปีการเงิน 2557 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ายังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 26% และ 48% ตามลำดับ ในปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,816 ล้านบาท จาก 3,382 ล้านบาทในปี 2556 ตามอัตรากำไรที่ดีขึ้น สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2558 นั้น รายได้ของบริษัทเติบโต 6% เป็น 7,906 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีการเงิน 2557 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายน้ำตาลเพิ่มขึ้น13% กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2558 ลดลงเพียงเล็กน้อยเป็น 2,204 ล้านบาท จาก 2,243 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีการเงิน 2557 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลที่ส่งออกของบริษัทจะลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดขายน้ำตาลในประเทศที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและกำไรที่แข็งแกร่งของธุรกิจพลังงานช่วยรักษากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2558

อัตราการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงโดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 59.8% ณ สิ้นปีการเงิน 2557 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ 4.7 เท่าในปีการเงิน 2557 ลดลงจาก 5.4-8.4 เท่าในปีการเงิน 2554-2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 13.4% ในปีการเงิน 2557 เมื่อเทียบกับระดับ 13.6%-25%ในปีการเงิน 2554-2557 ในอนาคต เงินลงทุนของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2558-2559 จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี จาก 3,000-6,000 ล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2556-2557 เนื่องจากบริษัทไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัทที่ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปีและแผนการลงทุนของบริษัทแล้ว คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ กระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำในปีการเงิน 2558 ตามวัฏจักรราคาน้ำตาลตกต่ำ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าตามการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลและการลดลงของระดับหนี้

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KSL15DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
KSL174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
KSL198A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
KSL199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ