ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “BBB” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงความสำเร็จของธนาคารในการกระจายพอร์ตสินเชื่อไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการมีพอร์ตสินเชื่อที่ยังมีคุณภาพดีแม้จะเสื่อมถอยลงไปบ้าง และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างเล็กทั้งในธุรกิจสินเชื่อและเงินรับฝาก ตลอดจนการพึ่งพาสินเชื่อขนาดใหญ่ การพึ่งพาแหล่งรายได้จากดอกเบี้ยเป็นหลัก รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย
อันดับเครดิต “BBB” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังและรักษาระดับกำไรไว้ได้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะดำรงเงินกองทุนส่วนเกินไว้เพียงพอต่อความเสียหายที่เกินกว่าคาดการณ์ และสามารถรักษาแหล่งเงินทุนที่มั่นคงไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากการเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อเป็นสาเหตุให้ธนาคารมีต้นทุนด้านเครดิตสูงขึ้นหรือมีเงินกองทุนส่วนเกินลดลงอย่างมาก ในทางตรงข้าม สถานะเครดิตในทางบวกถูกจำกัดในระยะเวลาอันใกล้นี้ เว้นแต่สถานะทางการตลาดและเงินกองทุนของธนาคารดีขึ้นอย่างมาก
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเองในกลุ่ม LH BANK ณ เดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 13 จากธนาคารพาณิชย์ไทย 17 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.2% และเงินรับฝากที่ 1.1% ธนาคารได้ทำการขยายสาขาเพื่อเสริมช่องทางการให้บริการแก่ลูกค้าและรองรับการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ของธนาคารยังได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องด้วย
พอร์ตสินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 27% จากปี 2553 ถึงปี 2557 สินเชื่อและดอกเบี้ยคงค้าง ณ เดือนมิถุนายน 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 127.6 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 18% จากเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเน้นขยายสินเชื่อธุรกิจมากขึ้นภายหลังการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อขนาดใหญ่ส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม พอร์ตสินเชื่อของธนาคารในปัจจุบันได้มีการกระจายตัวไปในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คุณภาพสินเชื่อของธนาคารเสื่อมถอยลงโดยสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการลดปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพลงโดยการตัดเป็นหนี้สูญและขายหนี้ด้อยคุณภาพไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านบาท เทียบกับ 2.4 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมสินเชื่อระหว่างธนาคาร) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.2% ณ เดือนมิถุนายน 2558 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณเงินสำรองของธนาคารสำหรับรองรับความเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2558 ปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร คิดเป็น 183% ของสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของทางการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 164% ณ เดือนธันวาคม 2557
ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเสื่อมถอยลงประกอบกับธนาคารต้องการมีสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินได้ดีเนื่องจากมีเงินรับฝากจากรายย่อยเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการขยายเครือข่ายสาขา ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นทีละน้อยตั้งแต่ปี 2555 แต่ยังคงเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2557 จำนวน 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และกำไรสำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2558 ยังเพิ่มขึ้นถึง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกำไรที่ดีขึ้นนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีสัดส่วนของกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนต่อกำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ดังนั้นจึงอาจส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารมีความผันผวนได้มากกว่าธนาคารอื่น
ธนาคารมีระดับของการก่อหนี้ (Financial Leverage) เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงมาอยู่ที่ 8.2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ธนาคารได้เพิ่มเงินกองทุนตามกฎหมายโดยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง 10.04% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 14.04% ณ เดือนมิถุนายน 2558 โดยอัตราส่วนทั้งสองอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังคงน้อยกว่าระดับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html