ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทำหน้าที่จัดหาพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศเพื่อส่งเข้ามาในประเทศไทย อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการดำเนินงานที่ใกล้ชิดกับ กฟผ. และการมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลยุทธ์ระยะยาวของ กฟผ. ทางด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับประเทศด้วย ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก กฟผ. รวมถึงการที่บริษัทมีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานลงทุนสำหรับ กฟผ. ในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศเพื่อมาใช้ภายในประเทศด้วยเช่นกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย กฟผ. และยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อ กฟผ. ในการแสวงหาพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ที่ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและ กฟผ. ที่เปลี่ยนไป หรือการสนับสนุนจาก กฟผ. ที่ลดลง เป็นต้น
บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อเป็นตัวแทนของ กฟผ. ในการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าที่เป็นโครงการระหว่างรัฐในประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทมี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้น 100% ตั้งแต่วันที่จัดตั้ง ทั้งนี้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยโดยดูแลทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งทั้งหมด ณ เดือนมิถุนายน 2558 กฟผ. เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าคิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตของประเทศ และสำหรับกำลังการผลิตส่วนที่เหลือนั้น กฟผ. เป็นผู้ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ กฟผ. ยังเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศทั้งหมดด้วย กฟผ. จำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงการมีข้อกำหนดในการจัดตั้ง กฟผ. ที่ระบุในพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 จึงมีผลให้ความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ใกล้เคียงกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก
จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) ประเทศไทยจะต้องนำเข้าไฟฟ้ารวม 12,347 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 เมกะวัตต์จากระดับปัจจุบัน โดยสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้านำเข้านั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 6% ณ สิ้นปี 2557 เป็น 18% ณ สิ้นปี 2579 ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของการมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนลจึงมีพันธกิจในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดส่งไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยโดยมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่หรือแต่เพียงผู้เดียว
ปัจจุบันบริษัทมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า 3 โครงการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 8,491 เมกะวัตต์ บริษัทมีนโยบายในการเข้าร่วมทุนประมาณ 30%-40% ในโครงการดังกล่าว ซึ่งจาก 3 โครงการนั้น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 (น้ำเงี้ยบ 1) ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป. ลาวมีความคืบหน้ามากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2562 โครงการน้ำเงี้ยบ 1 มีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 291 เมกะวัตต์และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 27 ปีกับ กฟผ. โดยจะจัดส่งไฟฟ้ามายังประเทศไทยจำนวน 1,459 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี บริษัทถือหุ้น 30% ในโครงการนี้และได้ตั้งงบประมาณลงทุนตามสัดส่วนการร่วมทุนในโครงการนี้จำนวน 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากโครงการน้ำเงี้ยบ 1 แล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม (โครงการกวางจิ) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 7,000 เมกะวัตต์ที่ประเทศเมียนมา (โครงการมายตง) ด้วย ปัจจุบัน กฟผ. ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงานของไทยในการจัดเตรียมเงินทุนให้แก่บริษัทสำหรับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ จำนวน 17,000 ล้านบาทแล้ว
การดำเนินงานของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล นั้นมีความใกล้ชิดและผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินงานของ กฟผ. และการที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย กฟผ. ก็ทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ระบบการปฏิบัติงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการแบ่งปันประสบการณ์ ผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัทก็ได้รับการแต่งตั้งจาก กฟผ. นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการนาน 5-10 ปี ดังนั้น จึงคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างน้อยอีก 3 ปีจนกระทั่งโครงการน้ำเงี้ยบ 1 ซึ่งเป็นโครงการลงทุนโครงการแรกของบริษัทจะเริ่มผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ในปี 2562
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html