ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ที่เสนอขาย และเมื่อรวมกันแล้ววงเงินค้ำประกันจำกัดไว้ไม่เกิน 300 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” (International Scale) จาก Standard and Poor’s นอกเหนือจากความแข็งแกร่งที่ได้รับจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเพิกถอนไม่ได้จากธนาคารกสิกรไทยแล้ว อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติทางธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานทุนที่เพียงพอด้วย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของบริษัท นอกจากนี้ ผลประกอบการที่ไม่สม่ำเสมอของบริษัทในระยะหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวก็มีผลกดดันต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของหุ้นกู้ของบริษัทขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้เป็นอย่างมาก การที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คาดว่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อโดยรวม รวมทั้งยกระดับผลประกอบการทางการเงินให้ดีขึ้นได้
การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นในกรณีที่คุณภาพสินเชื่อและสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากคุณภาพสินเชื่อหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ หรือหากความน่าเชื่อถือทางด้านเครดิตของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ของบริษัทอ่อนแอลง อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบในเชิงลบไปด้วย
บริษัทกรุ๊ปลีสก่อตั้งในปี 2529 โดยตระกูลเหลืองรังษีเพื่อประกอบธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ต่อมาในปี 2533 นายขรรค์ชัย บุนปาน และนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ได้ซื้อกิจการของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมและได้เปลี่ยนไปเน้นการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์แทน ในปี 2548 สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 โดย Asia Partnership Fund (APF) ซึ่งเป็นกองทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมทั้งซื้อหุ้นผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือ ส่งผลให้ APF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 61% ณ เดือนกันยายน 2558
หลังจากการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารของบริษัทในปี 2554 ผู้บริหารชุดใหม่ได้พยายามขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายและรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายเดิมที่มีอยู่ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,306 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 49.8% จากปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,922 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 48.9% จากปี 2555 เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อคงค้างแล้ว บริษัทมีขนาดของสินเชื่อคงค้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 10 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ในเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ธนบรรณ จำกัด จากธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทธนบรรณเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อคงค้างของบริษัทธนบรรณอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การครอบงำกิจการของบริษัทธนบรรณได้ช่วยส่งเสริมสถานะทางการตลาดของบริษัทในด้านสินเชื่อคงค้างให้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้ประโยชน์จากเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัทธนบรรณด้วย หลังจากการซื้อกิจการของบริษัทธนบรรณแล้ว สินเชื่อคงค้างของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 6,697 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 จาก 5,291 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์นั้น ผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย ต้องชะลอการขยายสินเชื่อโดยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อให้มากขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 สินเชื่อคงค้างของบริษัทยังค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับ 6,656 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สินเชื่อคงค้างสำหรับให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทลดลง 4% มาอยู่ที่ระดับ 6,363 ล้านบาท
ในปี 2555 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดคือ GL Finance PLC (GLF) โดยมีความร่วมมือกับ Honda NCX ซึ่งเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศกัมพูชา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สินเชื่อคงค้างของ GLF คิดเป็น 18% ของสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 10% ณ สิ้นปี 2557 บริษัทยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศว่าจะช่วยยกระดับผลประกอบการโดยรวมของบริษัทได้หรือไม่เพียงใด
สินเชื่อของบริษัทถดถอยลงค่อนข้างมากในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 7.8% ในปี 2553 เป็น 12.4% ในปี 2554 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเป็น 5.5% ในปี 2555 หลังจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าปรับตัวดีขึ้น คุณภาพสินเชื่อของบริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9.6% ณ สิ้นปี 2556 หลังจากนั้นคุณภาพสินเชื่อของบริษัทก็ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเป็น 9.4% ณ สิ้นปี 2557 และ 8.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558
ผลประกอบการของบริษัทในปี 2556 และ 2557 ได้รับผลกระทบจากคุณภาพสินเชื่อที่ถดถอยลงและการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนที่สูงขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.4% ในปี 2556 และ 8.6% ในปี 2557 อัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.6% ในปี 2556 แต่ลดลงเล็กน้อยเป็น 7.5% ในปี 2557 จาก 5.1% ในปี 2555 การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองและผลขาดทุนจากรถจักรยานยนต์ยึดคืนทำให้กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 240 ล้านบาทในปี 2556 หรือลดลง 33% จากปี 2555 และ 115 ล้านบาทในปี 2557 หรือลดลง 52% จากปี 2556 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับลดลงเป็น 5.4% ในปี 2556 และ 1.8% ในปี 2557 จาก 12.3% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยลดลงเป็น 6% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) อีกทั้งอัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยก็ปรับลดลงเช่นกันเป็น 5.8% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 240 ล้านบาทสำหรับครึ่งแรกของปี 2558 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงความเข้มงวดของนโยบายการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ อีกทั้งยังคาดหวังด้วยว่าบริษัทจะดำเนินมาตรการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2558 และต่อ ๆ ไป
ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 บริษัทสามารถขยายฐานสินเชื่อด้วยการกู้ยืมเงินโดยมีความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นปัจจัยสนับสนุน แม้ว่าเงินกู้ยืมรวมของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 954 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 3,111 ล้านบาทในปี 2556 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมก็ยังคงแข็งแกร่ง โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องและการมีผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแรง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 41.1% ณ สิ้นปี 2556 จาก 45.6% ในปี 2555 และ 57.9% ในปี 2554 การครอบครองกิจการของบริษัทธนบรรณในช่วงกลางปี 2557 ที่ผ่านมาใช้เงินทุนจากการกู้ยืมเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงเป็น 34.6% ณ สิ้นปี 2557 แต่ขยับขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 36.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยงสูงของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่สูงกว่าผู้ประกอบการธุรกิจให้สินเชื่อยานพาหนะทั่วไปที่เน้นรถยนต์นั่งและรถกระบะ ทั้งนี้ ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทจะเป็นเครื่องมือช่วยพยุงและดูดซับความเสี่ยงเนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูงและมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจมากกว่า
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html