ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “กรุงเทพมหานคร” ที่ “AA+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 22, 2015 13:20 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนของกรุงเทพมหานครที่มาจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและการดำรงเงินสะสมในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเองและจากภารกิจที่รับโอนจากรัฐบาลในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อสถานะอันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครซึ่งจะต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ได้แก่ การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม แผนการลงทุนและการจัดหาเงินทุน และการพัฒนากรอบวินัยในการบริหารหนี้ให้เป็นรูปธรรม เป็นต้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครอาจได้รับการปรับเพิ่มหากกรุงเทพมหานครมีแผนการลงทุนและการบริหารการเงินที่ชัดเจน รวมทั้งมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการเปิดเผยงบการเงินที่ตรวจสอบแล้วภายในเวลาที่เหมาะสม ในทางตรงข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากกรุงเทพมหานครมีดุลการคลังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง หรือมีการลงทุนที่ก่อให้เกิดภาระชำระหนี้ที่เกินกำลังความสามารถ

กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทย ในปี 2556 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product – GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 3.97 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 30.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากร โดยเป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและนโยบายของรัฐบาลกลาง

ในปีงบประมาณ 2557 แม้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลง แต่กรุงเทพมหานครยังจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5.5% ที่ระดับ 66,556 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่ง 92% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมคิดเป็นประมาณ 45% 24% และ 20% ตามลำดับ ในปีงบประมาณ 2557 กรุงเทพมหานครได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท ทำให้กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายรวม 68,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1% จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังขาดดุลจำนวน 2,426 ล้านบาท และมีอัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้อยู่ที่ -3.65% กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 77% ของรายจ่ายรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2557 ส่วนที่เหลือเป็นงบลงทุน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินการของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.3% หรือที่ระดับ 53,500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ความสามารถในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครลดลง ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 เงินสะสมของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 10,666 ล้านบาทซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่ได้บันทึกรายได้และรายจ่ายทั้งหมดของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายไว้ในรายงานการรับ-จ่ายเงินประจำปีของกรุงเทพมหานครที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น รายงานการรับ-จ่ายเงินของกรุงเทพมหานครจึงต่ำกว่าความเป็นจริง

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 54,136 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตเติบโตอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ กรุงเทพมหานครคาดว่าจะมีรายได้ทั้งหมด 68,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่าย 65,000 ล้านบาทแล้วจะทำให้กรุงเทพมหานครมีดุลการคลังเกินดุลประมาณ 3,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 ดังนั้น อัตราส่วนดุลการคลังต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครจะกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปีงบประมาณ 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 11,198 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2556 เป็น 12,176 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 ภาระหนี้สินส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครประกอบไปด้วย (1) เงินกู้ของบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) (2) มูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้า BTS และ (3) มูลค่าปัจจุบันของค่าเช่ารายปีจากสัญญาเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอย โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับประมาณ 18% ในระหว่างปีงบประมาณ 2556-2557

ในปี 2558 กรุงเทพมหานครได้มีการหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงแผนการโอนการบริหารและดำเนินการส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 2 ส่วนให้แก่กรุงเทพมหานครซึ่งประกอบด้วยเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการและเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยปัจจุบัน รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 54,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2560 และ 2563 ตามลำดับ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะรับโอนโครงการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทาซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่จะมีเส้นทางจากวัชรพลไปถึงทองหล่อ โดยโครงการอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 26,000 ล้านบาท ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ และแนวทางการจัดหาเงินทุนเพื่อประเมินผลกระทบต่ออันดับเครดิตของกรุงเทพมหานครต่อไป

ในการพิจารณาภาระการชำระหนี้รายปีของกรุงเทพมหานครนั้น ทริสเรทติ้งจะพิจารณาถึงภาระหนี้ที่ต้องจ่ายของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งจากสัญญาจัดจ้างระยะยาวต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายและรถเมล์ BRT ค่าเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอย และการชำระคืนเงินกู้ยืม โดยอัตราส่วนภาระชำระหนี้ต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปีงบประมาณ 2556 เป็น 6.3% ในปีงบประมาณ 2557 อันเนื่องมาจากค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนภาระชำระหนี้ต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ระดับ 6%-7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

กรุงเทพมหานคร (BMA)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ