ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนอันดับเครดิตยังประกอบด้วยสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในตลาดเฉพาะกลุ่มของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ตลอดจนการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานและสถานะทางธุรกิจที่มีเสถียรภาพของบริษัทแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงและคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อของบริษัทที่มุ่งเน้นไปที่สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทต่อไป
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับขึ้นได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงสถานะทางการตลาด รวมถึงผลการดำเนินงาน และคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทให้ดีขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากสถานะทางการตลาดหรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงจนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งถือเป็นบริษัทลูกในกลุ่ม Chailease ประเทศไต้หวันซึ่งถือหุ้นของบริษัทผ่านบริษัทลูก 2 แห่ง คือ Chailease Finance (Taiwan) (36.61%) และ Chailease International (Malaysia) (11.57%) งบการเงินของบริษัทถูกรวมเข้ากับงบการเงินของบริษัทแม่คือ Chalease Holding (Taiwan) เนื่องจาก Chalease Holding มีอำนาจควบคุมเหนือบริษัท นอกจากนี้ กลุ่ม Chailease ยังส่งตัวแทนจำนวน 5 คนให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัท รวมถึงยังสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทในยามจำเป็นด้วย ในปี 2557 สินทรัพย์ของบริษัทคิดเป็น 5.8% ของกลุ่ม ขณะที่กำไรของบริษัทคิดเป็น 4.2% ของกลุ่ม
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทนั้น 85% เป็นสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัทโดยตรง สัดส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ระดับ 85.3% ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทในเครือที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ระดับ 11.1% และ 3.6% ตามลำดับ สินเชื่อรวมของบริษัทในปี 2553-2556 ขยายตัวมากกว่า 10% ทุกปี อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 4.1% ในปี 2557 และ 1.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากสิ้นปี 2557
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำอันเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 สินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถบรรทุก 41.5% รถยนต์นั่งและรถกระบะ 26.6% รถตู้ 18.8% รถแท็กซี่ 8.9% และอื่น ๆ อีก 4.2% โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ที่เน้นการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อเฉพาะผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม
ในอดีต อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และมีนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวัง อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.8% ในปี 2555 เป็น 1.7% ณ สิ้นปี 2557 เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558
บริษัทมีกำไรดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2555 และ 2556 โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 49.1% เป็น 495 ล้านบาทในปี 2555 และเพิ่มขึ้นถึง 29.5% เป็น 641 ล้านบาทในปี 2556 ในปี 2557 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บริษัทต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญจำนวน 242 ล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุนเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำจากการเลือกใช้เงินกู้ระยะสั้นในการขยายพอร์ต์สินเชื่อ รวมถึงยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ ทำให้ในปี 2557 บริษัทยังคงมีกำไรเติบโตขึ้นบ้างเล็กน้อย โดยมีกำไรสุทธิ 671 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 4.7% จากปีก่อน สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิ 339 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 325 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน บริษัทยังคงเผชิญกับความท้าทายในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และรักษาความสามารถในการทำกำไรท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน
บริษัทได้รับประโยชน์ด้านแหล่งเงินทุนจากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงิน โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร ซึ่งมีผลจำกัดความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทและประโยชน์จากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถกระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นและตลาดทุนซึ่งรวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ โดยบริษัทจะเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพเอาไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งส่งผลทำให้มีความไม่สอดคล้องกันของอายุของสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นและเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดอายุไม่เกิน 1 ปีรวมกันอยู่ที่ระดับ 59.9% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวของบริษัทลดทอนลงจากการมีกระแสเงินสดจากการชำระค่างวดของลูกค้าและวงเงินสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัท โดยทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะเตรียมวงเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ระยะสั้นซึ่งมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า (Refinancing Risk)
การเพิ่มทุนในปี 2555 และ 2557 ช่วยให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13.4% เทียบกับ 11.2% ในปี 2554
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html