ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจรถเช่าและความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงินในระดับที่เพียงพอของบริษัทซึ่งมาจากกระแสเงินสดที่แน่นอนจากค่าเช่าที่ส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกบั่นทอนจากการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งจากราคารถยนต์มือสองที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการขยายธุรกิจและทำกำไรของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางการตลาดได้ต่อไปด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานลูกค้าหลักกลุ่มเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงก็ตาม
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทยังมีข้อจำกัดตราบใดที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศยังไม่เอื้ออำนวยและราคารถยนต์มือสองยังไม่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจำกัดกำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าและผลประกอบการโดยรวมของบริษัท นอกจากนี้ สถานะทางเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากผลกระทบจากราคารถยนต์มือสองทำให้กำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าของบริษัทลดลงมากยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทให้ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธินับแต่ปี 2552 ถึงปี 2554 แล้ว บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งมาโดยตลอด ในปี 2555 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเนื่องจากคู่แข่งมีการขยายขนาดสินทรัพย์ให้เช่าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การแข่งขันด้านราคายังคงมีความรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการทำสัญญาเช่าดำเนินงานขนาดใหญ่และการประมูลงานภาครัฐ ทั้งนี้ บริษัทเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประมูลงานทั่วไปหรือรับงานจากโครงการที่ได้รับอัตราค่าเช่าต่ำ แต่จะเน้นกลยุทธ์การให้บริการที่มีคุณภาพเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการบริการที่ดีและยินดีที่จะจ่ายเพื่อได้รับการบริการดังกล่าวด้วย
สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2556 โดยลดลงจาก 2,917 ล้านบาทในปี 2554 เหลือ 2,863 ล้านบาทในปี 2555 และลดลงเหลือ 2,704 ล้านบาทในปี 2556 อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2,924 ล้านบาทในปี 2557 และเป็น 2,999 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 สำหรับครึ่งแรกของปี 2558 บริษัทมีรายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วน 96% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 6,788 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 6,562 คันในปี 2557 และจาก 6,261 คันในปี 2556 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 รถยนต์ของบริษัทเกือบทั้งหมดประมาณ 87% เป็นรถที่ให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือเป็นรถให้เช่าระยะสั้นและรถทดแทน
บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในสัดส่วนมากกว่า 50% ของรถยนต์ที่จัดซื้อทั้งปีผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ การจัดซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่า และนอกจากการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 800 แห่งซึ่งบริษัททำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลและการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้โครงการ “โตโยต้าชัวร์” ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วไป ทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสองของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลได้รับผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลซึ่งทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์มือสองถูกแทนที่ด้วยความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ในทันที ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องต่อไปเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ยังคงมีแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อพยายามลดยอดรถยนต์ใหม่คงคลังส่วนเกินให้หมดไป คณะผู้บริหารของบริษัทกรุงไทยออโตโมบิลให้ความสำคัญในการขายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุของบริษัทมากกว่าการขายรถยนต์มือสอง ทั้งนี้ กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการรถยนต์มือสองที่ลดลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นโยบายตัดค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมยังคงทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าถึงแม้ว่าอัตรากำไรจะลดลง ตั้งแต่ปี 2551-2555 กำไรสุทธิของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลคิดเป็นสัดส่วน 12%-14% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือ 3% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทในปี 2556 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8%ในปี 2557 และ 6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ทั้งนี้ ราคารถยนต์มือสองได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2557 แต่การฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติยังคงมีความไม่แน่นอนและต้องใช้เวลาพอสมควร
ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้จากค่าเช่ารถยนต์ของบริษัทลดลงจาก 19.1% ในปี 2554 เหลือ 17.1% ในปี 2555 และ 17.2% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้ค่าเช่ารถยนต์กลับเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในช่วงปี 2557 และ 9 เดือนแรกของปี 2558 เนื่องจากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ในปี 2556 ผลของราคารถยนต์มือสองที่ลดลงอย่างมากทำให้ผลกำไรของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลลดลงถึง 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจาก 54.4 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 9.5 ล้านบาทในปี 2556 ในปี 2557 บริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 16.7 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2556 บริษัทมีกำไรสุทธิ 273 ล้านบาท ลดลง 32% จากปี 2555 ทั้งนี้ ในปี 2557 กำไรสุทธิของบริษัทยังลดลงมาอยู่ที่ 214 ล้านบาทอันเป็นผลมาจากการลดลงของราคารถยนต์มือสองและการชะลอตัวของธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสอง สำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับ 165 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิของบริษัทลดลงจาก 19.4% ในปี 2555 เหลือ 16.3% ในปี 2556 เหลือ 14% ในปี 2557 และเหลือ 12.8% ในงวด 9 เดือนแรกปี 2558 แม้ว่าอัตรากำไรสุทธิจะลดลง แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอจากค่าเช่าที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วนด้วย
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html