ทริสลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ที่ระดับ BBB- จากเดิมที่ BBB
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ประกาศลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน มูลค่า 3,500 ล้านบาท กำหนดไถ่ถอนปี 2548 ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็น BBB- จากเดิมที่ระดับ BBB โดยสืบเนื่องมาจากสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและภาระหนี้สินของบริษัท ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงในขณะที่สัดส่วนเงินกู้รวมต่อแหล่งเงินทุนยังคงสูงที่ระดับประมาณ 70% ในระยะปานกลางทริสยังกังวลเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น แม้ว่าบริษัทจะคงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยบวก แต่ฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทริสรายงานว่าในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 1% ในปี 2543 ในช่วงก่อนปี 2540 รายได้หลักของบริษัทมาจากการรับเหมาก่อสร้างโครงการภาครัฐประมาณ 70% สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 90% ในระหว่างปี 2540-2542 การเพิ่มขึ้นของรายได้จากโครงการภาครัฐจะส่งผลดีต่อบริษัทในแง่ของหนี้เสียที่จะลดลง แต่ก็อาจทำให้อัตรากำไรของบริษัทลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การชะลอโครงการและการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในโครงการที่อนุมัติไปแล้วเป็นความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างภาครัฐทริสเห็นว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปีล่าสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ จากกำไรสุทธิ 2,455 ล้านบาท ในปี 2541 บริษัทรายงานผลขาดทุนถึง 1,459 ล้านบาท ในปี 2542 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ลดลงจาก 16.7% ในปี 2539 เป็น 11.6% ในปี 2541 และ 6.2% ในปี 2542 ความไม่สอดคล้องกันของการรับรู้รายได้กับค่าใช้จ่ายของโครงการสำคัญตามที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2541 สูงกว่าความเป็นจริง สัดส่วนเงินกู้รวมต่อแหล่งเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2542 อยู่ที่ระดับ 73.3% อัตรากำไรก่อนภาษีก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในปี 2542 อยู่ที่ระดับ 1.4 เท่า ในปี 2542 บริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้และข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้เอาไว้ได้ แม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นจากเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นกู้ แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป ความสามารถของบริษัทในการจ่ายคืนหนี้ขึ้นอยู่กับแผนการขายสินทรัพย์และแผนการเพิ่มทุนตามที่ระบุไว้ในสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ แม้ว่าบริษัทจะแสดงความประสงค์อย่างชัดเจนที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว แต่ทริสเห็นว่าระยะเวลาและจำนวนเงินที่จะได้รับยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกหลายประการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท
**************************************