ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งและผลงานที่เป็นที่ยอมรับในสายธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งได้แก่ การให้บริการด้านระบบสารสนเทศผ่านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมต่าง ๆ (IT Solutions) และการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรด้านการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และให้บริการข้อมูลข่าวสาร (Mobile Multimedia) สถานะทางธุรกิจของบริษัทที่แข็งแกร่งได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจและความมั่นคงของกระแสเงินสดจากธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ และภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้และมีผลการดำเนินงานที่ดี
ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้ขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากและการทำกำไรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง บริษัทจะมีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในกรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่มากขึ้นและมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบริการที่มีรายได้สม่ำเสมอเพิ่มขึ้น
บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นก่อตั้งในปี 2493 โดยกลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 และ ณ สิ้นปี 2558 กลุ่มตระกูลวิไลลักษณ์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 45%
บริษัทเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นและยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจของตนเองด้วย ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ สายธุรกิจ IT Solutions สายธุรกิจ Mobile Multimedia ที่เกี่ยวกับธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ การให้บริการข้อมูล ข่าวสาร และบันเทิง ตลอดจนให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MVNO) นอกจากนี้ ยังให้บริการศูนย์บริการลูกค้าครบวงจร (Contact Center) และยังมีสายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี (Technology-related Business) และสายธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและขนส่ง (Utilities and Transportation Service Business) โดยสายธุรกิจ IT Solutions ดำเนินการโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ส่วนสายธุรกิจ Mobile Multimedia ดำเนินการโดย บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ธุรกิจให้บริการศูนย์บริการลูกค้าครบวงจรดำเนินการโดย บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่เหลือดำเนินงานโดยบริษัทลูกที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2558 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนอย่างละประมาณ 70% ในบริษัทสามารถเทลคอม บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย และบริษัทวันทูวัน คอนแทคส์
บริษัทมีรายได้ 23,880 ล้านบาทในปี 2557 และ 14,557 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 โดยสายธุรกิจ Mobile Multimedia เป็นสายธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทในสัดส่วน 44% ของรายได้รวม ส่วนสายธุรกิจ IT Solutions สร้างรายได้ในสัดส่วน 31% ในด้านกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) นั้น สายธุรกิจ IT Solutions สร้างกำไรให้แก่บริษัทเกือบ 50% ของ EBITDA
สถานะทางธุรกิจของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นขับเคลื่อนไปได้ด้วยสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสามารถเทลคอมและบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย โดยบริษัทสามารถเทลคอมมีผลงานเป็นที่ยอมรับในโครงการที่หลากหลายและความสามารถในการสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงรักษา ส่วนบริษัทสามารถ ไอ-โมบายนั้นเป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 7% ของจำนวนยอดขายเครื่องในตลาดรวม จุดแข็งของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย คือตราสินค้า “ไอ-โมบาย” ซึ่งเป็นตราสินค้าหลักที่บริษัทสร้างขึ้นเองและการมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นยังได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาด้วย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นยังมาจากผลประกอบการที่ผันผวนจากธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบที่มีขนาดมูลค่าโครงการแตกต่างกันมาก อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ทั้งนี้ ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปีที่แล้วของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย ได้รับผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและจากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทำกิจกรรมสนับสนุนทางการตลาดให้ส่วนลดค่าเครื่องและแจกเครื่องฟรีจำนวนมาก
สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 รายได้ของบริษัทลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากจำนวนยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลดลง 25% และรายได้ของบริษัทสามารถเทลคอมที่ลดลง 11% จากการประมูลงานภาครัฐที่ล่าช้า บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ปรับดีขึ้นจาก 16.6% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 17.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 โดยเป็นผลมาจากอัตรากำไรจากการดำเนินงานในบริษัทสามารถเทลคอมที่ทำได้สูงในระดับ 28% และอัตรากำไรที่ดีขึ้นจากบริษัทลูกที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าการแข่งขันในตลาดการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะรุนแรง แต่บริษัทสามารถ ไอ-โมบายก็ยังคงอัตรากำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ที่ประมาณ 8% ในช่วงปี 2557 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทค่อนข้างเสถียรที่ 3,200 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556 และ 2557 และอยู่ที่ 2,032 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558
ในช่วงปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสร้างรายได้มากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ของบริษัทสามารถเทลคอมเกือบ 9,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 และโอกาสที่จะได้งานใหม่จากงานวางระบบ IT Solutions ของบริษัทอีกด้วย แม้ว่าบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จะได้รับประโยชน์จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4จีที่เครือข่ายครอบคลุมจำนวนลูกค้ามากขึ้นซึ่งบริการนี้ต้องใช้เครื่องโทรศัพท์ที่รองรับระบบ 4จีเพิ่มขึ้นตามไปด้วยก็ตาม แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จะเพิ่มรายได้จากตลาดต่างประเทศ และจากธุรกิจการซื้อขายสินค้าและบริการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) อีกทั้งจะเพิ่มจำนวนลูกค้าในธุรกิจขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกด้วย นอกจากนี้ รายได้บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นจะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกจากการได้สัญญาใหม่ ๆ ในโครงการสถานีไฟฟ้าย่อยและโครงการสาธารณูปโภคและขนส่ง ในช่วงปี 2559-2561 คาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่สูงกว่า 17% โดยมีสมมติฐานว่าอัตรากำไรในบริษัทสามารถเทลคอมจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 25% ในขณะที่อัตรากำไรในบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จะได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานถึงระดับ 3,100 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีภาระหนี้สินระยะยาวที่ต้องชำระประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีในปี 2559 และปี 2560 และอีก 1,250 ล้านบาทในปี 2561 คาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 5-6 เท่า และคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ในช่วง 17%-20%
ภาระหนี้สินของบริษัทสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย และเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการของบริษัทสามารถเทลคอม ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้จำนวนวันหมุนเวียนลูกหนี้ของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย เพิ่มขึ้นจาก 175 วันในปี 2557 เป็นประมาณ 300 วัน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 61.8% ณ สิ้นปี 2557 และ 63.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 ซึ่งสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยประมาณ 55% ในช่วงปี 2554-2556 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2559-2561 โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อใช้สนับสนุนโครงการให้บริการด้านระบบสารสนเทศของบริษัทสามารถเทลคอมและโครงการด้านพลังงานของบริษัทเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จะลดภาระลูกหนี้ลงรวมทั้งลดภาระหนี้ที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามไปด้วย การประเมินอันดับเครดิตได้พิจารณารวมไปถึงการจ่ายเงินปันผลในอัตราประมาณ 60% ของกำไรรวมถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่คาดไว้ โดยหากไม่มีการลงทุนหรือการซื้อกิจการที่ใช้เงินทุนจากการก่อหนี้ก้อนใหญ่ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 65% ในช่วงระหว่างปี 2559-2561
ปัจจุบันบริษัทกำลังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในด้านพลังงานทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การลงทุนหรือการซื้อกิจการขนาดใหญ่อาจทำให้บริษัทต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทได้ ซึ่งการประเมินอันดับเครดิตจะพิจารณาถึงคุณภาพของโครงการการลงทุนพร้อมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายการใช้เงินทุนในการลงทุนใหม่ๆ ด้วยสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำกว่า 3 ต่อ 1 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทจัดการโครงสร้างเงินทุนอย่างเหมาะสมและไม่ทำให้สถานะทางการเงินอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html