ทริสทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 25, 2000 09:33 —ทริส เรตติ้ง

                        ทริสทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ประกาศเครดิตวาระทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ลำดับที่หนึ่งของ บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A+" และจัดอันดับเครดิตระดับ "A+" แก่ตราสารหนี้ลำดับที่สองจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2545 อันดับเครดิตทั้งหมดของบริษัทสะท้อนถึงการจัดอันดับเครดิตของทริสในระบบ National Scale ซึ่งทริสนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไป โดยภายใต้ระบบดังกล่าว เครดิตสูงสุดขององค์กรและตราสารหนี้ที่เป็นสกุลเงินบาทภายในประเทศจะได้รับการจัดอันดับที่ "AAA"
ทริสรายงานว่าอันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของส่วนแบ่งตลาดและสถานภาพทางการเงินของบริษัทอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทแม่คือ บริษัท เจเนอรัล อีเล็คทริค แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น (GECC) เพื่อความคล่องตัวทางการเงินในการชำระหนี้สิน นอกจากนี้ บริษัท เจเนอรัล อีเล็คทริค แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น ยังได้สนับสนุนให้บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนในขอบเขตที่กำหนดตามสัญญาทางการเงิน โดยบริษัทแม่อนุมัติหนี้ด้อยสิทธิในวงเงินที่เทียบเท่าเงินบาทเป็นจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บริษัท เนื่องจากมีการกำหนดให้หนี้ด้อยสิทธิเป็นส่วนหนึ่งของฐานเงินทุนของบริษัท ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2543 นี้ บริษัทแม่ได้สนับสนุนหนี้ด้อยสิทธิให้บริษัทเป็นจำนวน 350 ล้านบาท และจะเพิ่มการสนับสนุนอีก 200 ล้านบาทภายในเดือนกันยายน 2543นี้ สำหรับผลกำไรสุทธิจากงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบบัญชีจำนวน 259 ล้านบาท ปรากฏว่าต่ำกว่าผลกำไรที่ยังไม่ได้ตรวจสอบที่จำนวน 282 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนส่วนหนึ่งจากการขายรถยึดในปลายปี 2542 อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ 2.21% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 26.48% ยังเป็นสัดส่วนที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ การที่บริษัทได้รับผลประโยชน์จากการใช้โปรแกรมคุณภาพการปฏิบัติงานที่เริ่มในปี 2540 ทำให้มีการประหยัดต้นทุนในการบริหารซึ่งเห็นผลจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อรายได้รวมของบริษัทในระดับ 32.48% ในปี 2540 ที่ลดลงมาเป็น 25.88% ในปี 2542 ผลประโยชน์จากการลดต้นทุนการบริหารงานจากโปรแกรมนี้จะยังส่งผลสนับสนุนสถานะทางการเงินของบริษัทในปีต่อๆ ไป
การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลให้อุปสงค์ต่อการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทเร่งนำกลยุทธ์ทางการตลาดที่กระตุ้นการขยายส่วนแบ่งการตลาดเข้ามาใช้ โปรแกรมการให้สินเชื่อพิเศษแก่รถยนต์ยี่ห้อ นิสสัน มิตซูบิชิ และบีเอ็มดับเบิ้ลยู ได้เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อของรถยนต์ทั้ง 3 ยี่ห้อดังกล่าว จาก 43% ในปี 2542 เป็น 48% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2543 นอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มดำเนินการธุรกิจ e-commerce เพื่อเพิ่มช่องทางขยายฐานการตลาดเช่าซื้อรถยนต์ด้วย อย่างไรก็ตามผลการขยายตลาดจากธุรกิจ e-commerce นี้ยังต้องใช้ระยะเวลาติดตามผลต่อไป ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้พยายามรักษาคุณภาพการบริหารสินทรัพย์เอาไว้ โดยสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระ 30 วันขึ้นไปของบริษัทจาก 5.39% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 ลดลงมาเป็น 4.69% ณ วันที่ 31 มีนาคม 2543 หากพิจารณาตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดสัดส่วนสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ที่ระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไปแล้ว จะเห็นได้ว่าสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวของบริษัทลดลงจาก 1.58% ในปี 2542 เป็น 1.06% ในไตรมาสแรกของปี 2543 และยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าสัดส่วนสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ของธุรกิจเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนทั้งระบบที่ระดับ 12.90% นอกจากนั้นบริษัทยังได้พยายามลดความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อลงโดยได้ปรับระยะเวลาการยึดรถจาก 120 วัน เป็น 60 วัน
บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่พอเพียงจากสถาบันการเงินอื่นนอกเหนือจากบริษัทแม่ การออกตราสารหนี้ทั้ง 2 รายการของบริษัทถือเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่เหมาะสมกับระยะเวลาการปล่อยกู้ของบริษัท รวมทั้งยังเป็นการลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทด้วย การสนับสนุนจากบริษัทแม่และการเติบโตของตลาดเช่าซื้อรถยนต์จะทำให้บริษัทมีรายได้ที่พอเพียงกับการจ่ายชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ อย่างไรก็ตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วอาจจะส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าคุณภาพต่ำลง และความสามารถในการทำกำไรอาจลดลงจากผลกระทบของการขยายตัวของสินทรัพย์ นอกจากนี้ ทริสยังกังวลในประเด็นของข้อกำหนดตามสัญญาทางการเงินที่อนุญาตให้บริษัทอาจรวมกับบริษัทในเครือของบริษัทแม่ที่อยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทได้ อย่างไรก็ตามภายใต้กฎหมายมหาชนของประเทศไทยระบุว่าการกระทำการใดใดของบริษัทต้องมีการแจ้งล่วงหน้าให้เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ทราบ พร้อมทั้งต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้ก่อนการกระทำการนั้นๆ
หมายเหตุ: เครดิตวาระ (CreditUpdate) เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทบทวนผลอันดับเครดิตตราสารหนี้หรือองค์กรที่ทริสได้ประกาศผลอันดับเครดิตไปแล้ว ซึ่งโดยปกติการทบทวนดังกล่าวจะกระทำตลอดอายุของตราสารหรือสัญญา และสรุปผลเมื่อครบรอบปี ในระหว่างนั้น หากมีเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อธุรกิจหรือการเงินของหน่วยงานที่ทริสเคยจัดอันดับเครดิตไปแล้วและมีข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณาทบทวนอันดับเครดิต หรือเมื่อหน่วยงานดังกล่าวออกตราสารหนี้ใหม่หรือยกเลิกอันดับเครดิตเดิม ทริสจะประกาศ "เครดิตวาระ" แก่สาธารณชนและแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมจากที่เคยประกาศไปแล้ว ผลอันดับเครดิตอาจมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น (upgraded) ลดลง (downgraded) คงเดิม (affirmed) หรือ ยกเลิก (cancelled)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ