ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว และผลงานของคณะผู้บริหารที่เป็นที่ยอมรับ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและอัตราการทำกำไรในระดับต่ำของกลุ่มผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ (Mid-stream Producer) โดยที่การชะลอตัวของความต้องการยางธรรมชาติจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งของงบดุลเพื่อรองรับวงจรธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้
ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในภาวะที่ราคายางธรรมชาติยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากราคายางธรรมชาติตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูป 26 แห่งในประเทศไทย 3 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย และอีก 1 แห่งในประเทศพม่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,467,544 ตันต่อปี บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกเท่ากับ 9.1% ในปี 2558 บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 80% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยมียอดส่งออกคิดเป็น 84% ของปริมาณขายในปี 2558 ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 44% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด
ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 4 ประเทศคิดเป็น 76% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 12.3 ล้านตันในปี 2558 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 4.47 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (3.18 ล้านตัน) ประเทศเวียดนาม (1.02 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.70 ล้านตัน) ส่วนในด้านของการบริโภคนั้น ความต้องการยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2553-2558 ที่ผ่านมาจาก 10.79 ล้านตันในปี 2553 มาอยู่ที่ 12.35 ล้านตันในปี 2558 เติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.7% ต่อปี ประเทศจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด ซึ่งคิดเป็น 39.0% ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.8% ในปี 2558 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ International Rubber Study Group (IRSG) รายงานว่าความต้องการยางธรรมชาติจะมีมากกว่าผลผลิตยางธรรมชาติของโลกจำนวน 81,000 ตัน ในปี 2558
อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 93%-98% ของต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตยางแปรรูปแต่ละราย ผู้ประกอบการจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ ดังนั้น กำไรและกระแสเงินสดของผู้ประกอบการจึงมีความผันผวนอย่างมาก ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2553-2557 บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 0.64%-3.79% และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ระหว่าง 1,490-4,945 ล้านบาท
ในปี 2558 รายได้รวมของบริษัทลดลงตามราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง โดยรายได้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61,292 ล้านบาท หรือลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 อันเป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทที่ลดลง 19.4% และปริมาณขายที่ลดลง 7.0% โดยบริษัทมีปริมาณขายในปี 2558 เท่ากับ 1,119,966 ตัน ลดลง 6.1% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน การส่งออกยางธรรมชาติไปยังประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วน 52% ของปริมาณการส่งออกรวมของบริษัทลดลง 15% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ราคาขายเฉลี่ยของบริษัทในปี 2558 ลดลงประมาณ 19.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ตามราคายางธรรมชาติในตลาดโลก สาเหตุเกิดจากปริมาณความต้องการยางธรรมชาติที่เติบโตในอัตราชะลอตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าราคายางธรรมชาติจะลดลง แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2.02% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ที่เท่ากับ 0.64% โดยมีสาเหตุมาจากนโยบายการให้ความสำคัญต่อการทำกำไรมากขึ้นและราคายางธรรมชาติในปี 2558 ผันผวนน้อยกว่าในปี 2557 เมื่อรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์แล้ว EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3,221 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้น 33.9% เมื่อเทียบกับปี 2557 เงินทุนจากการดำเนินงาน ในปี 2558 อยู่ที่ระดับ 1,873 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากปี 2557
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง หนี้เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 19,126 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 จากเดิมที่ 13,975 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนตัวลงอยู่ที่ระดับ 47.27% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 จาก 40.43% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 เนื่องมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในช่วงธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายในปี 2558 เท่ากับ 3.76 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2556-2557 ที่ระดับ 3.63-3.71 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงมาอยู่ที่ 9.79% ในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี2556-2557 ที่เท่ากับ 14.06%-16.46% บริษัทยังคงมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดี โดยบริษัทมีเงินสดในมือ วงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และสินค้าคงเหลือที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดจำนวน 2,197 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินค้าคงเหลือมูลค่า 13,960 ล้านบาท
ในช่วงปี 2559-2561 บริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500-1,500 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ในการสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จากประมาณการ EBITDA ที่ระดับ 2,500-2,700 ล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะมีเพียงพอที่จะรองรับแผนการลงทุนของบริษัท คาดว่าอัตราเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 40%-45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html