ทริสจัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ภัทรลิสซิ่ง ระดับ "BBB"
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ได้ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันลำดับที่ 2 ไถ่ถอนในปี 2546 ของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB" เท่ากัน โดยอันดับเครดิตสะท้อนผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์ยาวนาน รวมทั้งบริการที่มีประสิทธิภาพซึ่งเห็นได้จากจำนวนสัญญาเช่าจากลูกค้าที่สม่ำเสมอ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จากลูกค้ารายใหญ่ 10 รายแรกมาจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่เกี่ยวข้องในตระกูลล่ำซำซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน จึงทำให้บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่พอเพียงในการบริหารงาน อย่างไรก็ตาม ข้อเด่นดังกล่าวถูกบั่นทอนลงไปบ้างจากการกระจุกตัวของรายได้จากลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันซึ่งไม่เกิดการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ รวมทั้งความสามารถในการขยายธุรกิจของบริษัทไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่อยู่นอกกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป นอกจากนี้การที่องค์กรใหญ่หลายองค์กรมีเครือข่ายบริษัทที่ให้บริการด้านรถเช่าหรือลิสซิ่งภายในกลุ่มของตนเองจึงทำให้โอกาสของบริษัทในการเข้าสู่ตลาดขององค์กรเหล่านี้ถูกจำกัด
ทริสกล่าวว่าภัทรลิสซิ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทยและกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินที่สำคัญแก่บริษัทในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2543 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2543 สินทรัพย์ให้เช่าแก่ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้องคิดเป็น 26% ของสินทรัพย์ที่ให้เช่าทั้งหมดของบริษัท นโยบายหลักของบริษัทได้แก่การบริหารแบบอนุรักษ์นิยมในการให้เช่ารถและการบริหารความเสี่ยงจากมูลค่าคงเหลือของรถเช่า การให้ความสำคัญกับการให้เช่ารถยนต์เป็นธุรกิจหลักทำให้บริษัทสามารถจัดหาบริการที่มีประสิทธิภาพตามความต้องการของลูกค้า และการที่บริษัทผู้เช่ารถยนต์สามารถใช้ประโยชน์ด้านภาษีจากค่าเช่ารถ จึงทำให้มีผู้สนใจใช้บริการรถเช่ามากขึ้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในสมาคมลิสซิ่งแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในการคำนวณส่วนแบ่งการตลาดยังมิได้คำนึงถึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกสมาคมลิสซิ่งซึ่งทำธุรกิจรถเช่าแข่งขันในตลาดเดียวกับบริษัท จึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้อย่างระมัดระวังบริษัทมีกำไร 48 ล้านบาทในปี 2542 หลังจากประสบปัญหาขาดทุน 170 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายเปลี่ยนแปลงจาก 3.15% ในปี 2540 เป็นติดลบ 18.04% ในปี 2541 เนื่องจากภาระการตั้งสำรองเต็มจำนวน และได้ปรับขึ้นมาเป็น 6.57% ในปี 2542 จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่มีผลต่ออัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขาย โดยมีสัดส่วนประมาณ 20% ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท ดังนั้นความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจึงมีผลกระทบที่สำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท การที่บริษัทใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนทางการเงินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ เช่น การออกหุ้นกู้ จะช่วยให้บริษัทลดความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของต้นทุนทางการเงินจากตลาดเงินและเงินกู้ระยะสั้นลงไปได้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีของปี 2542 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2542 สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทมีระดับค่อนข้างสูงที่ 74.71% ของหนี้สินรวมทั้งหมด นอกจากนี้ การใช้กลยุทธ์การออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนเงินกู้ยืมระยะสั้นจะช่วยให้บริษัทจัดโครงสร้างของการได้มาของเงินทุนให้สอดคล้องกับการใช้ไปของเงินทุน สัดส่วนหนี้สินต่อทุนในปี 2542 อยู่ที่ระดับ 1.69 เท่า ซึ่งต่ำกว่าของคู่แข่งรายอื่นมาก ทำให้บริษัทยังมีโอกาสกู้ยืมเพิ่มเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทเองด้วย