ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตประเทศและพันธบัตรรัฐบาล “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 9, 2016 09:40 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่แข็งแกร่งแม้ว่าจะชะลอตัวลง ตลอดจนการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่เป็นสากลและขจัดความยากจน อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตถูกจำกัดจากภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น การส่งออกและรายได้ของรัฐบาลที่ชะลอตัวลง ข้อจำกัดของระบบข้อมูลของภาครัฐ การเกิดใหม่ของตลาดทุนในประเทศ และการพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะมีความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้ภายใต้สมมติฐานที่หนี้ต่างประเทศของภาครัฐจะอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 40 ถึง 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่ต้องชำระน่าจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 45 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระยะปานกลาง อย่างไรก็ดี อัตราส่วนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอนาคตเมื่อเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศถูกแทนที่ด้วยเงินกู้จากนักลงทุนระหว่างประเทศ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” ยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่ารายได้ของรัฐบาลจากภาษีอากรยังคงเพิ่มขึ้นและรายได้ของรัฐบาลจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้

ในทางตรงกันข้าม ความเสี่ยงด้านเครดิตของ สปป. ลาว จะเพิ่มขึ้นถ้าภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับร้อยละ 60 ของ GDP อย่างต่อเนื่องซึ่งยังเพิ่มความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การลดลงของรายได้จากการส่งออก การลดลงของรายได้ภาษีและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีของรัฐบาล การลดลงของการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งจะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง

อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากการลดลงของหนี้ต่างประเทศของภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือการลดลงของภาระหนี้ที่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ

จากข้อมูลของธนาคารแห่ง สปป. ลาว เศรษฐกิจของ สปป. ลาว ซึ่งประเมินจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP ขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตที่แท้จริงประมาณร้อยละ 7.9 ต่อปี ระหว่างปี 2554 ถึง 2558 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations -- ASEAN หรือ อาเซียน) การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน

อัตราการขยายตัวที่แท้จริงของ GDP คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2558 และ 2559 โดยประมาณการว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 7.2 และ 7.5 อัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเนื่องมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงที่กระทบต่อระดับรายได้ของรัฐบาลและมูลค่าการส่งออก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาตลาดในปี 2558 คาดว่าจะเท่ากับ 12.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ที่แท้จริงต่อหัวของประชากรในปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในขณะที่รายได้ของภาครัฐน่าจะไม่เพิ่มขึ้นในปี 2558 ภายหลังจากที่เคยขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 มาอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2553 และ 2557

ภาครัฐของ สปป. ลาว รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินยังต้องพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มีระบบข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึงและทันเหตุการณ์ ฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เพียงพอและเชื่อถือได้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศหรือเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขี้นได้ทันเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเกิดวิกฤต การรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและตรงต่อเวลาจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดแนวนโยบายที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลและทันท่วงที ในปัจจุบัน หน่วยงานหลักของ สปป. ลาว ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มี 2 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (Bank of the Lao PDR) และ Lao Statistics Bureau ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแผนงานและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment) การพัฒนาระบบการจัดเก็บและการรายงานข้อมูลยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรระหว่างประเทศ ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบด้วยรายได้ประชาชาติ อัตราการขยายตัวของ GDP อัตราเงินเฟ้อ สินเชื่อและเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน การค้าระหว่างประเทศ และอื่น ๆ

สปป. ลาว มีเสถียรภาพทางการเมืองมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการในปี 2518 ระบบการปกครองประเทศประกอบด้วยพรรคเดียวคือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยมีสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว (National Assembly of the Lao PDR) เป็นคณะผู้มีอำนาจบริหารประเทศเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยความเห็นชอบของสภาแห่งชาติแห่ง สปป. ลาว การเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดใน สปป. ลาว ที่จัดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองของ สปป. ลาว การเมืองที่มีเสถียรภาพสูงทำให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องในการนำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สปป. ลาว ได้มีการนำแผนปฏิรูปภาษีอากรมาใช้ และมีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ตั้งแต่ปี 2553 พร้อมไปกับการพัฒนาระบบการบริหารและการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ดี แม้ระบบภาษีอากรจะมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในปี 2558 แต่กระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว คาดว่ารายได้จากภาษีอากรของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558 ยังขยายตัวร้อยละ 6.9 โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวถึงร้อยละ 18.3 ในขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีชะลอตัวลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินอุดหนุนจากองค์กรระหว่างประเทศและจากรัฐบาลต่างประเทศลดลง ซึ่งในปี 2558 คาดว่าจะเป็นการลดลงของรายได้รัฐบาลจากเงินอุดหนุนเป็นครั้งแรก โดยจะลดลงร้อยละ 12.5 จากปีงบประมาณก่อนหน้านี้

ในขณะเดียวกัน รายได้จากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ภายหลังจากที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลาย ๆ แห่งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินกิจการ ทั้งนี้ ในปี 2558 คาดว่ารายได้ของรัฐบาลจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 มาอยู่ที่ 355 พันล้านกีป (หรือ 43.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank -- ADB) ประมาณว่าโดยทางเทคนิคแล้วสาขาลุ่มแม่น้ำโขงใน สปป. ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากถึง 20,000 เมกะวัตต์ และในปี 2563 สปป. ลาว จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,100 เมกะวัตต์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยจากการประมาณการของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล สปป. ลาว รายได้ของรัฐบาลจากโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

หนี้ต่างประเทศของภาครัฐของ สปป. ลาว ในปี 2558 มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 51.8 ของ GDP หรือเท่ากับ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงขึ้นจากปี 2557 จากข้อมูลของกระทรวงการเงินแห่ง สปป. ลาว รัฐบาลกู้ยืมเงินจากในประเทศจำนวนน้อย หรือเพียงประมาณร้อยละ 15 ของ GDP ทริสเรทติ้งเชื่อว่า หนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว จะสูงขึ้นอีกและจะคงอยู่ในระดับสูงในช่วงระยะหนึ่ง เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการก่อสร้างโครงการหลายโครงการทั้งที่เป็นของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในขณะที่แหล่งเงินจากในประเทศยังมีจำกัด ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ค่อนข้างมากทำให้มีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ลดลง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวอาจลดลงบางส่วนเนื่องจากสัดส่วนของภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลส่วนมากเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศ และหนี้ระหว่างรัฐบาล ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าหนี้ดังกล่าวนั้นมีความยืดหยุ่นกว่าหนี้เงินกู้ยืมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ในปี 2558 สปป. ลาว มีหนี้เงินกู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศและเงินกู้ยืมระหว่างรัฐบาลเท่ากับประมาณร้อยละ 70 ของหนี้เงินกู้ยืมต่างประเทศของรัฐบาลทั้งหมด

ภาระการจ่ายชำระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะปานกลาง ในขณะเดียวกัน หนี้เงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศจะทยอยครบกำหนดชำระและถูกแทนที่ด้วยหนี้เงินกู้จากภาคเอกชนซึ่งมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า ภาระหนี้ที่ต้องชำระ (Debt Service) ต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว จะสูงกว่าร้อยละ 35 ในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้า

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao PDR)
อันดับเครดิตประเทศ: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MOFL186A: พันธบัตรรัฐบาล 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2561 BBB+
MOFL206A: พันธบัตรรัฐบาล 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2563 BBB+
MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2568 BBB+
MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2568 BBB+
MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปีพ.ศ. 2570 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ