เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ได้ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชนิดทยอยคืนเงินต้น มูลค่า 6,000 ล้านบาท ของบริษัท บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแท็ค ในระดับ "A-" ซึ่งสะท้อนสภาพธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัว รวมทั้งผลประโยชน์ร่วมจากพันธมิตรธุรกิจ ส่วนแบ่งการตลาดที่ค่อนข้างสูง และความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของแท็ค ในขณะที่จุดเด่นดังกล่าวลดทอนลงจากความไม่แน่นอนของการปฎิรูปธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และความต้องการลงทุนที่สูงของบริษัทในอนาคต แท็คเป็นผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศโดยมีส่วนแบ่งการตลาด 42% รองจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือแอดวานซ์ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด 52% ทริสรายงานว่าการที่แท็คมีพันธมิตรร่วมคือ บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย จำกัด (เทเลนอร์) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทโทรคมนาคมของรัฐบาลนอร์เวย์คือ บริษัท เทเลนอร์ เอเอส จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการแข่งขันแก่แท็คโดยการสนับสนุนเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญทางการตลาด และอำนาจต่อรองในการซื้ออุปกรณ์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินเพิ่มทุนจำนวน 262.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งสิ้น 70 ล้านหุ้นของเทเลนอร์ในช่วงเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2543 จะช่วยให้แท็คมีโครงสร้างทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนรวมจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 55% จากเดิมที่สูงกว่า 70% ในปี 2542 ภายใต้สัญญาเงินกู้ที่ได้ลงนามเมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 แท็คได้รับวงเงินกู้รวม 20,000 ล้านบาทซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินสำหรับชำระคืนภาระหนี้สินจำนวน 435 ล้านดอลล่าร์สหรัฐที่จะครบกำหนดในปี 2544 แท็คมีแผนการลงทุนจำนวนกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปีใน 3 ปีข้างหน้าเพื่อขยายเครือข่ายพื้นที่บริการ ภาระการลงทุนที่สูงมากในอนาคตอาจจะมีผลให้แท็คต้องก่อหนี้เพิ่มหากเงินสดจากการดำเนินงานมีไม่เพียงพอ
ทริสรายงานว่า อัตราการขยายตัวของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศได้เพิ่มขึ้น 16% ในปี 2542 และเพิ่มขึ้นเป็น 15% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2543 คาดว่าความต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว นอกจากนี้อัตราการมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรของประเทศที่ระดับ 4% ยังนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำ แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องทางสำหรับการขยายตัวอยู่ ในขณะที่ต้นทุนการใช้บริการของผู้บริโภคที่ต่ำลง การมีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่จ่ายค่าบริการรายเดือน (Pre-Paid) และความสามารถในการเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอนาคต ปัจจุบัน พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ยัง อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา รวมทั้งยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งจะทำหน้าที่กำกับกิจการด้านโทรคมนาคม โดยจะกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม กำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นจึงยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางด้านกฎระเบียบที่จะกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่ นอกจากนี้ จำนวนผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้น เช่น บริษัท เอซีที โมบาย จำกัด การกลับเข้าสู่ตลาดของ บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด (ดับบลิวซีเอส) และการมีผู้ให้บริการรายใหม่จากการเปิดเสรี รวมทั้งการที่ดับบลิวซีเอสกำลังหาพันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศ จะส่งผลต่อการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต