ทริสยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ บง. เกียรตินาคิน ระดับ BBB

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 21, 2000 11:22 —ทริส เรตติ้ง

                                ทริสยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ บง. เกียรตินาคิน ระดับ BBB
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ประกาศเครดิตวาระยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2547 ของบริษัทเงินทุน เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ในระดับ BBB เท่ากัน โดยหุ้นกู้ดังกล่าวสามารถไถ่ถอนได้ ณ สิ้นสุดปีที่ 3 ของอายุตราสาร
ทริสรายงานว่า บง. เกียรตินาคินได้ซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเงินทุน รัตนทุน จำกัด (มหาชน) 99.99% จำนวน 1,385 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในเดือนมีนาคม 2543 บง. รัตนทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนในสินเชื่อเช่าซื้อที่มาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่การที่สินทรัพย์ของ บง. รัตนทุนมีขนาดเล็กกว่าของ บง. เกียรตินาคิน ทริสจึงคาดว่าการสนับสนุนในเชิงธุรกิจจะไม่เกิดกับธุรกิจทุกประเภทของบริษัท นอกจากนี้ความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังเป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การลงทุนโดยการประมูลสินเชื่อแทนการปล่อยสินเชื่อใหม่ส่งผลให้บริษัทได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปี 2542 เป็นต้นมาทำให้สถานภาพทางการเงินของบริษัทดีขึ้นและส่งผลในด้านบวกต่อการดำเนินธุรกิจ ช่วงปลายปี 2541 บริษัทและ บง. รัตนทุนได้จัดตั้งกองทุน RT-KK ขึ้นเพื่อลงทุนในสินเชื่อเช่าซื้อที่ประมูลมาจาก ปรส. ในปี 2542 สินเชื่อที่ประมูลมาจาก ปรส. ในส่วนที่อยู่ในกองทุน RT-KK คิดเป็น 23.22% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดที่จำนวน 1,381 ล้านบาทของ บง. รัตนทุน และคิดเป็น 0.98% ของขนาดสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงในการลงทุน กำไรสุทธิของ บง. รัตนทุนเพิ่มขึ้นจาก 25 ล้านบาทในปี 2541 เป็น 705 ล้านบาทในปี 2542 สินเชื่อเช่าซื้อเกือบทั้งหมดจำนวน 338 ล้านบาทของ บง. รัตนทุนเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี การซื้อหุ้นของ บง. รัตนทุนช่วยขยายฐานลูกค้าให้แก่บริษัทเนื่องจาก บง. รัตนทุนมีฐานลูกค้าบางส่วนอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะที่บริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ในเขตภูมิภาค
สินทรัพย์ของบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2542 สัดส่วนของสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ต่อสินเชื่อรวมซึ่งไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับปรับตัวลดลงจาก 39.82% มาอยู่ที่ 34.11% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทเงินทุนทั้งระบบที่ 49.22% อย่างไรก็ตามสัดส่วนนี้ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2543 เป็น 39.66% เนื่องจากสินเชื่อที่ประมูลมาจาก ปรส. ที่เพิ่มเข้ามาอีกกว่า 6,200 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2542 ติดเงื่อนไขที่ห้ามมิให้ผู้ประมูลซื้อสินทรัพย์ของ ปรส. ลดมูลค่าหนี้ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าหนี้เดิม จึงมีผลทำให้การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่คืบหน้า ด้วยเหตุนี้สินเชื่อส่วนใหญ่ที่ประมูลมาจาก ปรส. อีกเกือบ 6,200 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2542 จึงกลายเป็นสินเชื่อที่บริษัทหยุดรับรู้รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2543 อย่างไรก็ตามมูลค่าของการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2542 ของบริษัทจำนวน 2,128 ล้านบาท หรือ 32.11% ของมูลค่าสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ ณ สิ้นปี 2541 เป็นเครื่องบ่งชี้ความก้าวหน้าของผู้บริหารในการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ค่าสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 73.02% ของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่บริษัทตั้งไว้ตามเกณฑ์เป็นระดับที่สูงกว่าค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 60% ของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมด รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,679 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2541 เป็น 5,176 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2542 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1,228 ล้านบาท จากที่ขาดทุน 704 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา สัดส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของบริษัท ณ สิ้นปี 2542 อยู่ที่ 13.02% ซึ่งเป็นระดับที่สูงพอที่จะรักษาขนาดของเงินกองทุนโดยไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนใหม่ สัดส่วนของส่วนผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 9.35% ณ สิ้นปี 2541 เป็น 12.50% ณ สิ้นปี 2542 เนื่องจากขนาดของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในปี 2542 สูงเพียงพอที่จะชดเชยผลขาดทุนสะสมได้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม 2543 บริษัทได้ประกาศแผนการเพิ่มทุน 1,400 ล้านบาทเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินให้กู้ยืมจากประชาชนของบริษัทลดต่ำลงจาก 155.03% ณ สิ้นปี 2541 เป็น 100.60% ณ สิ้นปี 2542 การออกหุ้นกู้ไม่มีประกันลำดับที่ 7 ของบริษัทจำนวน 1,000 ล้านบาทในครั้งนี้จะไม่เป็นภาระทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้เนื่องจากทริสคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตรวมทั้งการไถ่ถอนกองทุนของบริษัทที่ลงทุนในสินเชื่อ ปรส. จะมีจำนวนมากพอที่จะรองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่มีประกันลำดับที่ 7 นี้ได้เมื่อถึงเวลาครบกำหนด
หมายเหตุ: เครดิตวาระ (CreditUpdate) เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการทบทวนผลอันดับเครดิตตราสารหนี้หรือองค์กรที่ทริสได้ประกาศผลอันดับเครดิตไปแล้ว ซึ่งโดยปกติการทบทวนดังกล่าวจะกระทำตลอดอายุของตราสารหรือสัญญา และสรุปผลเมื่อครบรอบปี ในระหว่างนั้น หากมีเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อธุรกิจหรือการเงินของหน่วยงานที่ทริสเคยจัดอันดับเครดิตไปแล้วและมีข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณาทบทวนอันดับเครดิต หรือเมื่อหน่วยงานดังกล่าวออกตราสารหนี้ใหม่หรือยกเลิกอันดับเครดิตเดิม ทริสจะประกาศ "เครดิตวาระ" แก่สาธารณชนและแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมจากที่เคยประกาศไปแล้ว ผลอันดับเครดิตอาจมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้น (upgraded) ลดลง (downgraded) คงเดิม (affirmed) หรือ ยกเลิก (cancelled)
**********************

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ