ทริสยืนยันอันดับหุ้นกู้แปลงสภาพ ทิปโก้แอสฟัลท์ ระดับ BBB- คงเดิม
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ประกาศผลทบทวนอันดับเครดิตหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2543 ของบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ BBB- คงเดิม โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในตลาดยางมะตอยน้ำและยางมะตอยซีเมนต์จากฐานลูกค้าที่กว้างขวางและความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และการขยายตลาดยางมะตอยในต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินทุนเพียงพอที่จะชำระหนี้หุ้นกู้แปลงสภาพที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2543 ซึ่งมียอดคงเหลือ 474 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกกระทบโดยสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัท รวมทั้งภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงซึ่งจะทยอยครบกำหนดชำระภายในปี 2544 นอกจากนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2542 และไตรมาสแรกของปี 2543 ยังทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทเพิ่มขึ้น
ทริสรายงานว่าผลกระทบจากการตัดงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลยังคงเป็นสิ่งน่าเป็นห่วง งบประมาณในการสร้างและซ่อมแซมถนนถูกตัดลดลง 16.7% จาก 59,000 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 49,000 ล้านบาทในปี 2543 บริษัทให้ความสำคัญกับตลาดยางมะตอยในประเทศ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาตลาดในต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะจีนและอินโดจีน ยอดส่งออกยางมะตอยในปี 2542 มีมูลค่า 826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 475 ล้านบาท จากปี 2541 ในขณะที่ยอดขายยางมะตอยในประเทศลดลง 154 ล้านบาท เป็น 2,542 ล้านบาท จากนโยบายการกระจายธุรกิจสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามีส่วนทำให้ยอดขายของบริษัทในปี 2542 สูงขึ้น โดยยอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 647 ล้านบาทในปี 2541 เป็น 908 ล้านบาทในปี 2542
ณ เดือนธันวาคม 2542 บริษัทมีเงินสด 472 ล้านบาท และมีเงินลงทุนระยะสั้น 3,228 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะชำระหนี้หุ้นกู้แปลงสภาพที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีภาระหนี้ที่สูงโดยมีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 76.1% ในปี 2542 ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่ที่เหลือประกอบด้วยหุ้นกู้ 1,100 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และหุ้นกู้แปลงสภาพอีก 77 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2549 ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ 25.375 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพมีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวก่อนครบกำหนดอายุเป็นเงินตราต่างประเทศได้ในเดือนกันยายน 2544 ที่ราคา 132.564% ของมูลค่าที่ตราไว้ ทริสคาดว่าผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพจะใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวเนื่องจากราคาซื้อขายหุ้นของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2543 อยู่ระหว่าง 15.25-31.25 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาแปลงสภาพมาก (155 บาทต่อหุ้น) ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนคงที่สำหรับการแปลงสภาพที่ 25.375 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศนั้นไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ บริษัทยังต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มในปี 2544 เนื่องจากแหล่งเงินสดจากการดำเนินงานและเงินสดคงเหลือและเงินลงทุนระยะสั้นไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้สินดังกล่าว ทริสยังคำนึงถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโครงการสร้างโรงกลั่นยางมะตอยซีเมนต์ซึ่งได้ชะลอโครงการออกไปโดยยังไม่มีแผนการดำเนินงานต่อที่ชัดเจนอีกด้วย
ในปี 2542 ยอดขายรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 15.7% ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากยอดส่งออกยางมะตอยที่เพิ่มขึ้นและการเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายน้ำมัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายลดลงจาก 16.6% ในปี 2541 เป็น 9.9% ในปี 2542 ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันซึ่งมีผลกระทบต่อราคาของยางมะตอยซีเมนต์ อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 74.5% ในปี 2541 เป็น 76.1% ในปี 2542 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินรวมลดลงจาก 15.8% เป็น 7.2% อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 2.6 เท่าเป็น 1.6 เท่า เนื่องจากการออกหุ้นกู้ 1,100 ล้านบาทในปี 2542 และกำไรจากการดำเนินงานที่ลดลง