แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สำคัญ ๆ ได้ในอนาคตจากการมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ยั่งยืน
อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจนส่งผลให้กระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ต่ำกว่าที่คาดไว้อย่างมาก นอกจากนี้ สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงอย่างมากซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากหรือผลตอบแทนที่ไม่ดีจากโครงการที่กำลังพัฒนาก็จะเป็นปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
บริษัทไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ ก่อตั้งในปี 2551 เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในระยะเริ่มแรก บริษัทได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการในประเทศไทย และต่อมาได้เริ่มมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในเดือนตุลาคม 2557 ณ เดือนกันยายน 2559 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 136 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์(Solar Thermal) ขนาด 4.5 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) ขนาด 80 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 14
เมกะวัตต์ โครงการ Solar Farm สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ที่เพิ่งลงทุนขนาด 1 เมกะวัตต์ และโครงการ Solar Farm ในประเทศญี่ปุ่นขนาด 36.5 เมกะวัตต์ โดยโครงการทั้งหมดในประเทศได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้วยกเว้นโครงการที่ร่วมมือกับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนใหญ่ของโครงการในประเทศญี่ปุ่นนั้นยังอยู่ในช่วงพัฒนาและก่อสร้าง นอกจากนี้ เพื่อเป้าหมายในการขยายพลังงานแบบผสมผสาน บริษัทยังได้ประกาศเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass Power Project) จำนวน 3 โครงการซึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศรวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้นอีกจำนวน 22.2 เมกะวัตต์ด้วย
สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยบริษัทมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โครงการ Solar Farm ที่มีกำลังการผลิตตามสัญญาขนาด 80 เมกะวัตต์ได้รับ PPA ที่ให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ระดับ 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 10 ปี ในขณะที่โครงการ Solar Rooftop กำลังการผลิตตามสัญญาจำนวน 14 เมกะวัตต์ได้รับ PPA ที่มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed-in-tariff -- FIT) ที่ราคา 6.16 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 25 ปี จากอัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้อย่างชัดเจนตามสัญญาและความเสี่ยงในการผิดชำระเงินที่ต่ำของผู้รับซื้อไฟฟ้าจึงทำให้กระแสเงินสดของบริษัทมีเสถียรภาพและสามารถคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงและการปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็อยู่ในระดับต่ำด้วยเช่นกัน เนื่องจากบริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วและลักษณะการผลิตไฟฟ้ามีความซับซ้อนน้อยกว่าพลังงานชนิดอื่น ๆ
การพิจารณาอันดับเครดิตได้รวมไปถึงผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคาดของโครงการ Solar Farm ที่มีกำลังการผลิตตามสัญญาจำนวน 80 เมกะวัตต์ซึ่งถือเป็นโครงการหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัทอยู่ ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินงานภายใต้ บริษัท ไทย โซล่าร์ รีนิวเอเบิล จำกัด (TSR) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง บริษัท ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GSPC) ในสัดส่วน 60:40 รายได้ของโครงการซึ่งคิดตามสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2558 ตามด้วยโครงการ Solar Rooftop ซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 8% บริษัทได้ใช้แผงโซลาร์ที่ผ่านการรับรองและมีการรับประกันปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดระยะเวลา 10 ปีจากผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำ 2 บริษัท ได้แก่ Conergy และ SunEdison การรับประกันดังกล่าวช่วยรักษารายได้ขั้นต่ำของโครงการ อย่างไรก็ตาม สถานะการเงินที่อ่อนแอของผู้ให้การรับประกันนั้นสร้างความกังวลต่อความแน่นอนของการรับประกันปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระดับหนึ่ง การพิจารณาอันดับเครดิตยังได้รวมถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่ยังอยู่ในแนวโน้มที่ดีโดยเห็นได้จากแผนระยะยาวในการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งทางธุรกิจของบริษัทถูกลดทอนลงจากประวัติการดำเนินงานที่สั้นในฐานะของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ การดำเนินการโรงไฟฟ้ายังเผชิญกับความเสี่ยงจากอีกหลายปัจจัยด้วย เช่น ความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าอาจต้องหยุดการผลิตเป็นเวลานาน ความเสี่ยงจากปริมาณเชื้อเพลิง และความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดถอนจากความเสี่ยงจากโครงสร้างทางการเงินที่อาจจะสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทพยายามจะลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งตั้งข้อสังเกตว่ารายงานการเงินของบริษัทไม่ได้สะท้อนรายได้และภาระเงินกู้ที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมดเนื่องจากบริษัทบันทึกผลประกอบการของโครงการ Solar Farm กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาขนาด 80 เมกะวัตต์ หรือบริษัท TSR ด้วยวิธีส่วนได้ส่วนเสีย (Equity Method) ดังนั้น ในการประเมินอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งจึงได้ทำการปรับตัวเลขที่สำคัญ เช่น รายได้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เงินทุนจากการดำเนินงาน และภาระเงินกู้ยืมโดยการรวมผลประกอบการของ TSR ตามสัดส่วนการลงทุน ทั้งนี้ เพื่อให้สะท้อนผลประกอบการและภาระเงินกู้ที่บริษัทมีอยู่
ในอนาคตทริสเรทติ้งมองว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะเข้มแข็งมากขึ้นจากขนาดของธุรกิจที่ขยายขึ้นและการกระจายพื้นที่ดำเนินงาน รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเติบโตขึ้นเมื่อโครงการที่พัฒนาอยู่เริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่ สำหรับโครงการ Solar Farm ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นได้เริ่มดำเนินการแล้วคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาจำนวน 5.24 เมกะวัตต์จากกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด 36.5 เมกะวัตต์ โดยคาดว่ากำลังการผลิตที่เหลืออีก 31.2 เมกะวัตต์จะเริ่มทยอยผลิตได้ทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ในขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น โรงไฟฟ้าขนาด 4.6 เมกะวัตต์จะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 และโรงไฟฟ้าอีก 2 โครงการรวม 17.6 เมกะวัตต์จะเริ่มผลิตได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000-2,200 ล้านบาทในระหว่างปี 2560-2562 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วจะปรับตัวขึ้นเป็น 900-1,100 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทสำหรับโครงการที่ดำเนินงานอยู่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,500-7,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2560-2561 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนนั้นอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคตเนื่องจากบริษัทยังแสวงหาโอกาสลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากโครงการที่ประกาศแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวสูงขึ้นและอยู่ในช่วง 60%-65% ในระหว่างปี 2560-2562 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ที่ 10%-13% ในช่วงเวลาที่ประมาณการณ์ดังกล่าว
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html