ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว และผลงานของคณะผู้บริหารที่เป็นที่ยอมรับ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งจากอัตราการทำกำไรในระดับต่ำของกลุ่มผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ (Mid-stream Producer) และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ต่อไปและจะใช้ตราสารอนุพันธ์อย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงจากราคายางธรรมชาติและจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งของงบดุลเพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคาธรรมชาติได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเป็นระยะเวลานานในขณะที่งบดุลของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคายางธรรมชาติตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีเป็นผู้นำในธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูป 26 แห่งในประเทศไทย 3 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย และอีก 1 แห่งในประเทศพม่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,523,992 ตันต่อปี บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกเท่ากับ 11.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 80% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยมียอดส่งออกคิดเป็น 85% ของปริมาณขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 58% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด
เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ ดังนั้น อัตรากำไรของบริษัทจึงค่อนข้างต่ำและผันผวนตามราคายางธรรมชาติ บริษัทมีการทำสัญญาตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาและจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ แต่รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง และอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 0.59%-3.81% ในปี 2554-2558 เมื่อเปรียบเทียบกับ 0.64%-2.49% หากไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นจริง กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ระหว่าง 1,384-4,945 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554-2558
ในปี 2558 รายได้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61,292 ล้านบาท หรือลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 อันเป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทที่ลดลง 13% และปริมาณขายที่ลดลง 7% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อในช่วงที่ราคายางธรรมชาติลดลง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35,446 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลง 11% แต่ปริมาณขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทมีปริมาณขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เท่ากับ 725,190 ตัน โดยปริมาณขายเติบโตทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน การเติบโตของปริมาณขายเกิดจากลูกค้าเร่งสั่งซื้อยางธรรมชาติหลังจากราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559
ราคายางธรรมชาติได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 และลดลงจนถึงระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หลังจากนั้นราคายางธรรมชาติก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี 2559 ประกอบกับประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติหลัก 3 ประเทศประกาศจะลดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติของ 3 ประเทศลง 15% ราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.92% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จากที่อยู่ที่ระดับ -0.28% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ส่งผลทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.00% จาก 3.69% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 และทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,357ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 จากระดับ 1,661 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคายางธรรมชาติยังคงปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 และในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ตามปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกที่ลดลงและราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามรายงานของสมาคมยางพาราไทยราคายางเฉลี่ยของ Standard Thai Rubber (STR 20) อยู่ที่ระดับ 45.26 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 และ 49.63 บาทต่อ กก. ในเดือนตุลาคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายเฉลี่ยที่ 45.36 บาทต่อ กก. ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 และ 43.18 บาทต่อ กก. ในเดือนตุลาคม 2558
งบดุลของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง หนี้เงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 19,194 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 47.27% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยเกือบ 60% ของหนี้เงินกู้รวมของบริษัท หรือ 11,017 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นซึ่งเป็นเงินกู้ยืมสำหรับสินค้าคงเหลือมูลค่า 11,086 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 สินค้าคงเหลือของบริษัทถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและอยู่ในความต้องการของตลาด สามารถขายเพื่อนำมาชำระหนี้ของบริษัทได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในช่วงธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เท่ากับ 6.00 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2557-2558 ที่ระดับ 3.63-3.76 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงมาอยู่ที่ 7.07% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557-2558 ที่เท่ากับ 9.79%-14.06%
ในช่วงปี 2560-2562 บริษัทวางแผนลงทุนประมาณ 1,600-3,200 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ จากประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 2,700-2,900 ล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะมีเพียงพอที่จะรองรับแผนการลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัท
บริษัทมีความเสี่ยงทางกฎหมายอันเนื่องมาจากข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับสัญญากิจการร่วมค้า โดยในปี 2557 บริษัท รวมทั้ง บริษัท รับเบอร์แลนด์โปรดักส์ จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัท) และบริษัท สยามเซมเพอร์เมด จำกัด ถูก Semperit Technische Produkte Gesellschaft m.b.H. (STPG) ยื่นฟ้องต่อศาล โดย STPG เป็นผู้ร่วมทุนในบริษัทสยามเซมเพอร์เมดซึ่งอยู่ในประเทศออสเตรีย STPG ได้กล่าวหาว่าบริษัท กิจการร่วมค้า รวมถึงผู้ถือหุ้นไทยของบริษัทสยามเซมเพอร์เมดปฏิบัติผิดข้อตกลงของสัญญากิจการร่วมค้าและสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย STPG ได้ยื่นเสนอข้อพิพาทจำนวน 3 คดีต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของหอการค้านานาชาติ (ICC International Court of Arbitration) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยขอให้คณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำสั่งให้บริษัทและบริษัทรับเบอร์แลนด์โปรดักส์ ตลอดจนผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ของบริษัทสยามเซมเพอร์เมดกระทำการหรืองดเว้นการกระทำการบางประการอันเกี่ยวกับบริษัทสยามเซมเพอร์เมด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ STPG ได้เรียกร้องค่าเสียหายสำหรับคดีหนึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 35 ล้านยูโรหรือเทียบเท่าประมาณ 1,380 ล้านบาทเป็นประมาณ 82 ล้านยูโรหรือเทียบเท่าประมาณ 3,234 ล้านบาท ซึ่งทำให้มูลค่าการเรียกร้องค่าเสียหายของทั้ง 3 คดีเพิ่มขึ้นเป็น 3,452 ล้านบาทจาก 1,598 ล้านบาท โดยหนึ่งในสามคดีนั้นได้รับคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการฯ แล้วเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 โดยคณะอนุญาโตตุลาการฯ ชี้ขาดว่าแม้มติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทสยามเซมเพอร์เมดขัดต่อข้อบังคับของบริษัทสยามเซมเพอร์เมดแต่สามารถใช้บังคับได้และมีผลผูกพันตามกฎหมายตามข้อกำหนดของสัญญากิจการร่วมค้า คณะอนุญาโตตุลาการฯ ได้สั่งให้บริษัทและบริษัทรับเบอร์แลนด์โปรดักส์ชดใช้ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวให้แก่ STPG เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คณะอนุญาโตตุลาการฯ ยังมิได้มีคำชี้ขาดให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อ STPG ในอีก 2 คดีที่เหลือแต่อย่างใด ผลจากคดีพิพาททั้งหมดนี้ยังมีความไม่แน่นอนและอาจใช้ระยะเวลานานกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯ ทั้ง 3 คดียังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาบังคับคดีในประเทศไทย แม้ในกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำชี้ขาดที่เป็นคุณต่อ STPG ก็ตาม
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html