ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารในฐานะเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มีเสถียรภาพในธุรกิจหลักของธนาคาร ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวมกิจการกับ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันคุณภาพสินทรัพย์และต้นทุนในการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารต่อไปได้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากกลุ่ม MUFG ต่อไปในฐานะบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม
อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงในกรณีที่สถานะด้านเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป
BTMU เป็นธนาคารที่ถือหุ้น 100% โดย MUFG ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น BTMU ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 72.01% ของธนาคารภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญโดยสมัครใจซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2556 สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม MUFG ในธนาคารผ่านทาง BTMU เพิ่มขึ้นจาก 72.01% เป็น 76.88% ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ในขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิมที่ 20% ไว้ ทั้งนี้ BTMU ได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก Moody’s Investors Service (Moody’s) ที่ระดับ “A1” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” และจาก Standard and Poor’s ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ณ เดือนธันวาคม 2558 โดยอันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงการสนับสนุนที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มบริษัทแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 5 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2559 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่ออยู่ที่ 12% และเงินรับฝากอยู่ที่ 9.4% อัตราการเติบโตปีต่อปีของสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ระดับ 13.5% มาจากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนอัตราการเติบโตปีต่อปีของเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ระดับ 7.2% ในช่วงเวลาเดียวกันมาจากกลุ่มบัญชีเงินฝากที่เพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งรวมถึงบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนสูงด้วย แนวทางหนึ่งในการขยายธุรกิจของธนาคารคือมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Cross-sell) ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยบริษัทจะใช้โอกาสจากความสัมพันธ์ที่ BTMU สาขากรุงเทพฯ มีกับบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการขยายฐานลูกค้าไปสู่เครือข่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้น นอกจากนี้ ธนาคารยังจะสามารถให้บริการลูกค้าสถาบันผ่านเครือข่ายสาขาต่างประเทศของ BTMU ในการทำธุรกรรมข้ามประเทศและเข้าถึงตลาดทุนในต่างประเทศได้ด้วย
คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารมีสัญญาณไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารอยู่ที่ 1.74% ในปี 2558 ซึ่งลดลงจาก 1.85% ในปี 2557 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.44% ต้นทุนทางเครดิตของธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ที่ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีที่ระดับ 0.8% สะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือ 2.3% ณ เดือนกันยายน 2559 จาก 2.47% ณ สิ้นปี 2558 ธนาคารมีสัดส่วนของสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ที่ 15% ของยอดสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งที่มุ่งเน้นการขยายสินเชื่อประเภทนี้ ทั้งนี้ ลูกค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการเสื่อมคุณภาพของสินเชื่อมากที่สุดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นยอดหลังหักรายการหนี้ศูนย์ตัดบัญชีแล้วซึ่งมีมูลค่าถึง 10,828 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 นอกจากนี้ สัดส่วนของสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษต่อสินเชื่อรวมก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 3.7% ในปี 2558 เป็น 4.2% ณ เดือนกันยายน 2559 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์ ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเสื่อมคุณภาพของสินทรัพย์ได้ถึงจุดที่สูงที่สุดไปแล้วหรือไม่ในปีปัจจุบัน
กำไรสุทธิของธนาคารมีการเติบโตในอัตราสูงในปีที่ผ่านมา โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 18,852 ล้านบาทในปี 2558 เพิ่มขึ้น 19% จากกำไรสุทธิในปี 2557 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการควบรวมกิจการกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2559 ยังอยู่ในอัตราที่สูง โดยปริมาณกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ 16,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบปีต่อปีที่ 20.2% จากปริมาณกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับกำไรสุทธิก่อนการหักค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่านั้นเพิ่มขึ้น 8% และ 11.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับเทียบเคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมาโดยตลอดแม้จะมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) ที่ 1.29% ในปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2557 นั้น ยังคงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.31% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ที่ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีที่ 0.61% ยังคงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 0.66% ความสามารถในการทำกำไรในระดับเฉลี่ยเป็นผลมาจากธนาคารมีต้นทุนทางเครดิตและสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงเป็นสำคัญเนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนธุรกิจจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยในอัตราที่สูง จากแผนธุรกิจของธนาคารที่มุ่งเน้นขยายสาขาและเพิ่มจำนวนพนักงานจึงน่าจะส่งผลให้ธนาคารยังคงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในระดับที่สูงต่อไปในอนาคต กระนั้น ความสามารถในการสร้างผลกำไรก็สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร โดยส่วนต่างดอกเบี้ยที่ระดับ 3.71% ในปี 2558 ของธนาคารถือว่าอยู่ในระดับดีมากของทั้งอุตสาหกรรมอันเป็นผลจากการมีอัตราสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ระดับ 5.7% และมีต้นทุนกองทุนที่ระดับ 2.08% ในขณะที่ส่วนต่างของอัตราสินเชื่อที่ระดับ 3.98% ในปี 2558 ของธนาคารถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดของทั้งอุตสาหกรรม
โครงสร้างแหล่งเงินทุนของธนาคารประกอบด้วยแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำจาก BTMU ในสัดส่วน 14% ของแหล่งเงินทุนรวม ณ เดือนมิถุนายน 2559 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความเห็นสอดคลองกับมุมมองของธนาคารว่าแหล่งเงินทุนจาก BTMU ซึ่งเป็นบริษัทแม่นั้นเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงและช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ ซึ่งหากปราศจากความช่วยเหลือด้านเงินทุนจาก BTMU แล้ว สัดส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินจะอยู่ในสัดส่วนที่สูงที่ 128% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 101% ณ เดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งสะท้อนจุดอ่อนของธนาคารในด้านแหล่งเงินทุน ธนาคารยังออกหุ้นกู้อายุปานกลางอีกหลายครั้งเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เงินกู้ยืมของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 7.6% ของแหล่งเงินทุนรวม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 6.83% ในช่วงเดียวกัน สัดส่วนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีปัจจุบัน (CASA) ของบริษัทซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53% ณ เดือนมิถุนายน 2559 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 59% และสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ที่ระดับ 30% ก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 43% เช่นกัน
แม้ว่า ณ เดือนกันยายน 2559 ธนาคารจะมีฐานเงินทุนสูงกว่าปริมาณเงินทุนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่พอสมควร แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับเฉลี่ยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2% และ 14.8% ตามลำดับ นั้น ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 14.85% และ 18.2% ตามลำดับ
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html