ทริสทบทวนอันดับเครดิตองค์กรบรรษัทระดับ "A+"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 18, 2000 09:39 —ทริส เรตติ้ง

ทริสทบทวนอันดับเครดิตองค์กรบรรษัทระดับ "A+"
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ได้ประกาศผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บรรษัท) ระดับ "A+" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการจัดอันดับเครดิตของทริสในระบบ National Scale ซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไป โดยภายใต้ระบบดังกล่าว เครดิตสูงสุดขององค์กรและตราสารหนี้ภายในประเทศจะได้รับการจัดอันดับที่ "AAA" จากรายงานของทริสระบุว่า แม้ว่าบรรษัทจะมิใช่รัฐวิสาหกิจ แต่การที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันเกือบ 30% ของจำนวนหุ้นทั้งสิ้นของบรรษัทเป็นสิ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนและความสัมพันธ์ของภาครัฐต่อบรรษัท ได้แก่ การค้ำประกันการกู้ยืมเงินบางส่วน รวมทั้งการที่บรรษัทมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและดำเนินงานเพื่อสานต่อนโยบายของกระทรวงการคลัง อันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงการที่บรรษัทสามารถเพิ่มทุนได้อย่างมีนัยสำคัญและการกันสำรองได้อย่างครบถ้วนด้วย อย่างไรก็ดี จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงเมื่อพิจารณาถึงผลประกอบการที่ยังคงมีผลขาดทุนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและความสามารถในการทำกำไรที่ยังค่อนข้างอ่อนแอโดยเหตุที่เป็นองค์กรที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม บรรษัทจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางปล่อยกู้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดสรรเงินจำนวน 9,000 ล้านบาทให้แก่บรรษัทเพื่อให้กู้แก่กิจการดังกล่าว และในขณะเดียวกันบรรษัทก็ได้ปล่อยกู้โดยตรงอีก 6,000 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าบรรษัทมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่งทริสรายงานว่าในปี 2542 บรรษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 6,168 ล้านบาท เป็น 11,616 ล้านบาท โดยได้รับส่วนเกินมูลค่าหุ้นจำนวน 2,991 ล้านบาท ทริสเห็นว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวมีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายอันอาจเกิดจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ เนื่องจากบรรษัทมีอัตราส่วนแสดงความเพียงพอของเงินกองทุนในระดับที่สูงกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 บรรษัทมีอัตราเท่ากับ 27.78% ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้บรรษัทยังสามารถกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามในปี 2542 บรรษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงโดยมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 7,908 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน 4,685 ล้านบาท ผลขาดทุนดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการกันสำรองส่วนหนึ่งและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิติดลบอันเนื่องมาจากการมีดอกเบี้ยรับที่ลดลงและมีดอกเบี้ยจ่ายจำนวนสูงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งบรรษัทก็ได้พยายามแก้ไขผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจด้วยการกำหนดมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปล่อยกู้แก่ลูกหนี้รายใหม่ รวมทั้งการระดมเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อชำระคืนเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ