อัตราการผิดนัดชำระหนี้และอัตราการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในประเทศไทย ประจำปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 6, 2017 13:00 —ทริส เรตติ้ง

บทสรุป
ปี 2559 เป็นปีที่มีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เริ่มจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างมาก ตามด้วยการถอนตัวของสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และปิดท้ายด้วยชัยชนะที่ไม่คาดคิดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีดังกล่าว เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และผลของการถอนตัวของประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษมากมายอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ ราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระหว่างปี โดยเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี 2559 มาอยู่ที่มากกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปี 2559 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกซึ่งวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2560 จะเติบโตในอัตราประมาณ 3.4% จากปีก่อนหน้าโดยประเมินจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน
เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นระหว่างปีโดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว GDP ในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3% มากกว่าปี 2558 ที่เติบโตเพียง 2.8% อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าไปยังตลาดในประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศจีน รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการ เช่น เร่งให้มีการประมูลโครงการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายโครงการ การคืนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และการให้นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2560 ธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในปี 2559 ทริสเรทติ้งมีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่บริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสิ้นรวม 146 ราย โดยเป็นการจัดอันดับเครดิตใหม่ 17 รายซึ่งรวมบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้และกลับมาชำระคืนหนี้ได้ใหม่ 1 ราย มีบริษัทที่ยกเลิกการจัดอันดับเครดิตจำนวน 2 ราย จึงทำให้จำนวนบริษัทคงเหลือ ณ สิ้นปีอยู่ที่ 143 ราย สัดส่วนของบริษัทที่มีการประกาศอันดับเครดิตต่อสาธารณะ (ไม่นับรวมบริษัทที่เข้ามาใหม่ บริษัทที่ยกเลิกอันดับเครดิต และบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้) ที่มีอันดับเครดิตคงเดิมอยู่ที่ 82.5% ลดลงจาก 83.3% ในปีก่อนหน้า บริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมี 13 ราย ถูกปรับลดอันดับเครดิต 8 ราย ผิดนัดชำระหนี้ 1 ราย มีบริษัทที่ได้รับการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต 5 รายและถูกประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเชิงบวก 1 ราย แม้บริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะมีจำนวนมากกว่าบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิต แต่สัดส่วนของบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตต่อบริษัทที่ได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตกลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.62 จาก 0.46 ในปี 2558 เนื่องจากมีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ 1 รายในปี 2559 ซึ่งทำให้จำนวนบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 19 ราย (เป็นบริษัทที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างที่ยังมีการจัดอันดับเครดิตอยู่จำนวน 15 ราย และอีก 4 รายมีการผิดนัดชำระหนี้ภายหลังจากขอยกเลิกอันดับเครดิตไปแล้ว) เนื่องจากจำนวนบริษัทที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในปี 2559 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.2% 2.7% และ 3.9% จาก 1.3% 2.8% และ 4.2% ในปี 2558 ตามลำดับ โดยบริษัทที่รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับ “A” และ “BBB” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณมากกว่า 80% ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตทั้งหมด
ตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน ณ สิ้นปี 2559 มีมูลค่าคงเหลืออยู่ที่ 2.486 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจำนวนมากหันมาระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้จากการที่ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ สัดส่วนของตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิต (ที่ออกโดยบริษัทที่มีอันดับเครดิตและไม่มีอันดับเครดิต) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 24% จาก 11% ในปี 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้นักลงทุนที่มีรายได้สูงมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าแม้จะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินของบางบริษัทที่ไม่มีอันดับเครดิตในช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2560 ก็ส่งผลกระทบในด้านลบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัดและตลาดน่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติในไม่ช้า ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าตราสารหนี้ที่ออกในปี 2560 น่าจะใกล้เคียงปีก่อนหน้า โดยมูลค่าตราสารหนี้ที่ออกและจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2559 อยู่ที่ 772,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.2% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ อาหารและเกษตร ตลอดจนโทรคมนาคมมีการออกตราสารหนี้มากกว่า 50% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2559

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ