การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนเติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทเอกชนได้เร่งออกตราสารหนี้ใหม่ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2560 คาดว่าจะยังคงที่โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปี 2559 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับเพิ่มขึ้น บริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงยังคงได้รับประโยชน์จากการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ส่วนผู้ออกตราสารที่ไม่มีอันดับเครดิตและบริษัทที่มีอันดับเครดิตไม่สูงจะเผชิญความเสี่ยงในการออกตราสารจากเหตุผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นมีความเสี่ยงในการต่ออายุตราสารซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินดังกล่าวที่จะมีต่อตลาดตราสารหนี้และต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ตาม ถ้าการแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูงที่ยังคงดำเนินอยู่และเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาและมีความผันผวนสูงจะเป็นปัจจัยกดดันสภาวะตลาดโดยรวม และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เพิ่มขึ้นด้วย การเติบโตของการออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีอันดับเครดิตคาดว่าจะลดลงตามสภาวะของตลาดที่มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเนื่องจากนักลงทุนจะต้องประเมินความเสี่ยงของตราสารที่ไม่มีอันดับเครดิตกันมากขึ้น
• มูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2560 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2559
การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปี 2559 ยังคงแข็งแกร่งด้วยมูลค่า 772,300 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยเพิ่มขึ้น 35% จากปี 2558 การออกหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่บริษัทเอกชนเร่งออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหนี้เดิมก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปีนี้จะอยู่ในระดับเดียวกันกับในปี 2559 โดยอยู่ที่ประมาณ 750,000 – 800,000 ล้านบาท ในการประมาณการเชิงลบ ทริสเรทติ้งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่การออกหุ้นกู้จะลดลงอย่างมากจากแนวโน้มความเสี่ยงในเชิงลบที่จะเกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีผลให้สภาวะสภาพคล่องของตลาดการเงินในไทยลดลงอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่ความผันผวนของราคาสินทรัพย์และการลดระดับความเสี่ยงในการลงทุน ภายใต้สภาวะเช่นนี้ การออกหุ้นกู้อาจลดลงไปสู่ระดับ 450,000 – 550,000 ล้านบาทได้เหมือนในปี 2555-2558 ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing -- QE) และแนวโน้มที่สภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงซึ่งกลายเป็นความกังวลอย่างต่อเนื่องในหมู่นักลงทุน
ภาพที่ 2 แสดงถึงสัดส่วนมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ภาคเอกชนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการออกหุ้นกู้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และขนาดกลางได้เข้าสู่ตลาดตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นเพื่อการระดมทุนโดยได้ประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกกว่าและความหลากหลายของแหล่งเงินทุน แม้ธนาคารจะยังคงเป็นแหล่งเงินกู้หลักให้แก่ระบบการเงินในภาคเอกชนไทย แต่ก็คาดว่าจำนวนบริษัทเอกชนที่เข้ามาสู่ตลาดตราสารหนี้เพื่อระดมทุนจะเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2560 จากภาพที่ 4 แสดงให้เห็นว่าจำนวนของบริษัทที่ออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจาก 101 บริษัท ณ สิ้นปี 2555 เป็น 204 บริษัท ณ สิ้นปี 2559
• การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในปลายปี 2559 สะท้อนแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในปี 2560
ในปีที่ผ่านมาบริษัทเอกชนหลายแห่งได้เร่งออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อที่จะได้ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอาจเกิดในเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ในช่วงต้นปี 2560 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น 45-100 bps (Basis Points – bps) จากระดับต่ำ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ของตราสารหนี้ภาคเอกชนก็ขยายกว้างขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นแต่บริษัทเอกชนหลายแห่งก็ยังคงออกหุ้นกู้เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับการกู้ยืมจากธนาคาร ดังนั้น การออกหุ้นกู้จำนวนมากน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้ จากภาพที่ 5 แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารและอัตราผลตอบแทนจากการออกหุ้นกู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ขนานกัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าต้นทุนการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้จะยังคงน่าดึงดูดมากกว่าต้นทุนการกู้ยืมจากธนาคารโดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่มีอันดับเครดิตในระดับสูง
แม้กระนั้นก็ตาม ด้วยแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและความผันผวนของตลาดรวมถึงสภาพคล่องที่อาจลดลงอย่างมากจากการไหลออกของเงินทุนทำให้ตลาดตราสารหนี้มีความอ่อนไหว ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่ง ความไม่แน่นอนของระดับความเข้มงวดของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยเฉพาะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับตลาดการเงินทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวอยู่ ตามที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 3-10 ปีปรับเพิ่มขึ้น 20-55 bps ภายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2559 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงที่อยู่ โดยที่การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ตลาดได้เพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee -- FOMC) ในเดือนธันวาคม 2559 ทั้งนี้ ผลการประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 bps โดยในรายงานการประชุมยังระบุด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต
ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำคัญฯ เช่น พันธบัตรรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นในระดับ 50-75 bps จากระดับในปี 2559 บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะค่อยเป็นค่อยไปและจะไม่นำไปสู่การไหลออกของเงินทุนอย่างรวดเร็วและสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดมากจนเกินไป
การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในปี 2560 คาดว่าจะยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน พาณิชย์ เกษตรและอาหาร อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และขนส่งเช่นเดียวกับในปี 2559 (ภาพที่ 6)
• อัตราดอกเบี้ยของตลาดเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยตลาดสหรัฐฯ
ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2559 ตลาดตราสารหนี้ในประเทศมีการขึ้นอัตราผลตอบแทนเหมือนที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนมกราคม 2560 เพิ่มขึ้นจนกระทั่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงต้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่เหมือนกับในปี 2559 ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2559 มีส่วนช่วยประคองบรรยากาศของตลาดและสร้างความเชื่อมั่นของตลาดได้เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ณ เดือนมีนาคม 2559 ลดลงเกือบ 100 bps จากช่วงต้นปี โดย FOMC ได้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมโดยอ้างเหตุผลถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ยังคงเปราะบางอยู่ในช่วงเวลานั้น (ภาพที่ 7)
การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปทำให้อัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ไทยลดลงไปสู่ระดับที่ต่ำมากในปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำในปี 2560 ความกังวลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ หวนคืนกลับมาอีกครั้งซึ่งครั้งนี้จะยิ่งน่ากังวลมากขึ้นเมื่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะค่อย ๆ เติบโตในระดับปานกลางที่ 3%-3.5% และแม้จะคาดว่ารัฐบาลจะคงนโยบายผ่อนคลายแล้วก็ตาม แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าระบบและตลาดการเงินจะเห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้
• การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ออกตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต
การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินของผู้ออกตราสารบางรายที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตเมื่อไม่นานมานี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลาดมีความระมัดระวังต่อผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้และกังวลว่าผู้ออกตั๋วแลกเงินรายอื่นที่ไม่มีอันดับเครดิตจะตกอยู่ในสถานะเดียวกัน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มระมัดระวังมากขึ้นในการให้กู้ยืมแก่ผู้ออกตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต ซึ่งส่งผลทำให้การต่ออายุของหนี้ที่ครบกำหนดชำระกระทำได้ยากขึ้น
การลดระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ออกตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีอันดับเครดิตไม่สูงบางรายจะพบกับความยากลำบากมากขึ้นในการต่ออายุหนี้ที่จะครบกำหนด ทำให้ผู้ออกตราสารเหล่านี้ต้องเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้แก่นักลงทุนโดยเพิ่มขึ้น 25-75 bps ซึ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ออกตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตและบริษัทที่มีอันดับเครดิตไม่สูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้อ่อนแอและกดดันสภาวะตลาดมากขึ้น จากภาพที่ 8 แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของหุ้นกู้ที่ออกโดยผู้ออกตราสารที่ไม่มีอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักหรือสภาพคล่องของตลาดลดลงอย่างกะทันหันหรือรุนแรง ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลทำให้นักลงทุนลดระดับความเสี่ยงในการลงทุนมากยิ่งขึ้น ในกรณีนี้ ต้นทุนการกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากตามความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและการต่ออายุของหนี้ที่ครบกำหนดจะทำได้ยากขึ้นด้วยโดยเฉพาะผู้ออกตราสารที่มีอันดับเครดิตไม่สูง
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำอย่างต่อเนื่องและอัตราผลตอบแทนที่ต่ำของตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตสูงได้ผลักดันให้นักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นและในบางกรณีก็ทำให้นักลงทุนต้องเสี่ยงมากขึ้น ความเชื่อที่ว่าการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นได้ยากในตลาดตราสารหนี้ประกอบกับอัตราผลตอบแทนสูงที่ดึงดูดความต้องการของนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม ได้ทำให้ความต้องการตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตยังคงอยู่ในระดับสูง ผลที่ตามมาคือการออกหุ้นกู้เติบโตอย่างมากในช่วงปี 2558-2559 อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ของตั๋วแลกเงินที่เกิดขึ้นได้สั่นคลอนความเชื่อดังกล่าวและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ปัจจุบันตลาดจึงต้องประเมินความเสี่ยงของหนี้ระยะสั้นที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตใหม่อีกครั้ง การลดระดับความเสี่ยงในการลงทุนและความผันผวนของสภาวะตลาดที่มากขึ้นทำให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่าซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในปีที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจะอยู่ในวงจำกัดเมื่อดูจากขนาดของตราสารเหล่านี้ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้โดยรวม สภาพคล่องยังมีอยู่มากจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายซึ่งจะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจค่อย ๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของการออกหุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับเครดิตคาดว่าจะลดลงในปีนี้ตามสภาวะตลาดที่ระมัดระวังมากขึ้น นักลงทุนจะมองหาสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง การเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาอีกครั้งต้องใช้เวลา
การออกหุ้นกู้ใหม่โดยบริษัทที่ไม่มีอันดับเครดิตจะชะลอตัวหรือลดลงไปเนื่องจากหาผู้ลงทุนยากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเหล่านี้ปรับสูงขึ้น ภายใต้สภาวะเช่นนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธนาคารจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อและเงินกู้ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าการออกตั๋วแลกเงินหากนักลงทุนยังมีความกังวลอยู่ โดยการหาแหล่งเงินทุนจะเปลี่ยนจากการออกหุ้นกู้มาเป็นการกู้ยืมจากธนาคารซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ออกตราสารที่ไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อนำมาทดแทนหนี้เดิมได้
• ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตมีความเสี่ยงในการต่ออายุเมื่อครบกำหนด
ในประเทศสหรัฐฯ ตลาดตั๋วเงิน (Commercial Paper -- CP) เป็นตราสารต้นทุนทางการเงินต่ำที่ใช้เสริมสภาพคล่องซึ่งเหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือสูง การก่อหนี้ระยะสั้นอาจทำให้กระแสเงินสดของบริษัทสะดุดลงได้ ผู้ออกตราสารจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ระมัดระวัง รวมถึงมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่สูงเนื่องจากความเสี่ยงของการต่ออายุตราสารอาจทำให้เกิดต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากได้ เมื่อผู้ออกตราสารเหล่านั้นมีอันดับเครดิตที่ต่ำจึงทำให้ไม่สามารถหานักลงทุนมาซื้อตราสารนั้นได้ และการต่ออายุตั๋วเงินในตลาดก็ไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้น ผู้ออกตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำจึงต้องหาแหล่งเงินกู้อื่นๆมาทดแทนการออกตั๋วเงิน
ตลาดตั๋วแลกเงินหรือ B/E ในประเทศไทยมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของหุ้นกู้คงค้าง แต่ตลาดตั๋วแลกเงินก็เติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 9) ทั้งนี้ จากตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 12 มกราคม 2560 มูลค่าคงค้างของตั๋วแลกเงินมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ที่ออกโดยผู้ออกตราสารที่ไม่มีอันดับเครดิตหรือบริษัทไม่มีอันดับเครดิตที่น่าลงทุน
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตราสารหนี้ระยะสั้นในช่วงต้นปี 2560 เป็นการเตือนผู้ที่อยู่ในตลาดให้ตระหนักว่าหากนักลงทุนลดความเสี่ยงในการถือตราสารหรือความรุนแรงจากสภาพคล่องในตลาดที่หายไปจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการต่ออายุตราสารเหล่านี้อย่างมาก สำหรับผู้ออกตราสารนั้น การผิดนัดชำระหนี้ของตั๋วแลกเงินทำให้มีความจำเป็นที่บริษัทจะต้องหาทางเลือกอื่นมาชำระหนี้ระยะสั้นเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนด สำหรับนักลงทุนนั้น คุณภาพของข้อมูลการวิเคราะห์อันดับเครดิตยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนอย่างครบถ้วน
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินที่ผ่านมาและการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะมีไม่มากเมื่อเทียบพิจารณาจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีขนาดเล็กและสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ยังมีอยู่มาก ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการกำกับดูแลจากทางการและกลไกตลาดจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ออกตราสารที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิตและบริษัทที่มีอันดับเครดิตไม่สูงออกจากตลาดไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่า หากพฤติกรรมการแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูงในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงยังคงดำเนินต่อไป เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะเพิ่มสภาวะกดดันให้แก่ตลาดอย่างมากซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเชิงลบเป็นลูกโซ่ไปสู่ผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มอื่น ๆ ได้
• ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ของบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำจากการออกหุ้นกู้ จากภาพที่ 8 แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของมูลค่าการออกตราสารหนี้มากกว่า 2 ใน 3 ที่เป็นของผู้ออกตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตในระดับ “A” หรือสูงกว่า ด้วยเงื่อนไขการกู้ยืมที่เป็นที่น่าพอใจและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเอื้อให้บริษัทออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อให้ได้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินเพื่อมาชำระหนี้ที่ครบกำหนด
ภาพที่ 10 แสดงให้เห็นถึงส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหุ้นกู้อายุ 5 ปีซึ่งออกโดยบริษัทที่มีอันดับเครดิตในระดับ “A” อยู่ที่ 75 -150 bps ในช่วงปี 2555-2559 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่วนต่างมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างกว้างขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปริมาณการออกหุ้นกู้ที่เพิ่มมากขึ้น หากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้กับพันธบัตรรัฐบาลจะยังคงอยู่ในช่วงเดียวกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
• "A-" เป็นอันดับเครดิตในระดับเฉลี่ยของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง
ณ สิ้นปี 2559 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB" และ "A" ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 38.15% และ 34.10% ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตทั้งหมดตามลำดับ (ภาพที่ 11)
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html