เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ได้ประกาศอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ "AA" ซึ่งอันดับเครดิตสะท้อนความเข้มแข็งของสินทรัพย์ในรูปของปริมาณสำรองปิโตรเลียม ความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียมของประเทศ การมีผู้บริหารที่มีความสามารถ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงการมีนโยบายการเงินที่ระมัดระวังและสถานะทางการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ดีของบริษัท
จากรายงานของทริสระบุว่า ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 บริษัทเป็นเจ้าของแหล่งสำรองปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคิดเป็น 24% ของปริมาณสำรองทั้งหมด มีปริมาณการผลิตปิโตรเลียม 74,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจาก บริษัท ยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วสูงถึง 778 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ถือว่ามีมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับโลก และเมื่อพิจารณาจากกำลังการผลิตในปัจจุบัน โดยสามารถนำมาผลิตใช้ได้นานถึง 29 ปี ซึ่งยาวนานกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่มีอายุระหว่าง 10-15 ปี
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ปตท.สผ. จำนวน 61% ปตท. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ประกอบธุรกรรมด้านปิโตรเลียมครบวงจร รวมทั้งเป็นผู้ซื้อปิโตรเลียมเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ ในฐานะที่ ปตท.สผ. เป็นบริษัทลูกของ ปตท. และเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. จึงได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมและรับสัมปทานภายใต้เงื่อนไขที่พิเศษกว่าปกติ และบางครั้งได้รับสัมปทานโดยตรงจากรัฐบาล จากฐานะผู้ร่วมทุนกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทน้ำมันต่างประเทศ ปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้กลายมาเป็นผู้ประกอบการในแหล่งบงกชซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศตั้งแต่กลางปี 2541 การดำเนินการในโครงการบงกชที่ราบรื่นได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ปตท.สผ. มีความสามารถในการแข่งขันในฐานะผู้ประกอบการได้แล้ว นอกจากนี้ ทริสยังกล่าวว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาของบริษัทมีค่า 2.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ทั้งนี้ เนื่องมาจากในช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในขณะที่ต้นทุนการสำรวจได้ลดต่ำลง ส่วนต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียมในปี 2542 มีค่า 2.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ระดับ 2.53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่ารายได้และกระแสเงินสดของ ปตท.สผ. จะเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อแหล่งเงินทุนของบริษัทก็เพิ่มขึ้นจาก 32% ในปี 2538 เป็น 59% ในปี 2542 เนื่องจากมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นในปริมาณมากเพื่อใช้ในการลงทุน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาวในการกำหนดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อแหล่งเงินทุนที่ 50% นับว่ามีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากบริษัทได้ลงทุนในการพัฒนาโครงการหลักๆ แล้วเสร็จไปแล้ว ทำให้ไม่ต้องการเงินลงทุนที่สูงมากเช่นในอดีต ในขณะที่การผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะทำให้บริษัทมีรายได้ที่สูงขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับปานกลางที่ 10%-35% ในช่วงปี 2538 ถึง 2542 ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่ายมีค่าสูงที่ 48%-68% ในระยะเวลาเดียวกัน