ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร "บรรษัท" ระดับ "A+"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 14, 2001 07:47 —ทริส เรตติ้ง

        บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ทบทวนผลอันดับเครดิตองค์กรของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บรรษัท) ที่ระดับ "A+" คงเดิม ซึ่งสะท้อนบทบาทการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และความสำเร็จในการเพิ่มฐานเงินกองทุนด้วยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนด้วยคุณภาพสินทรัพย์ของบรรษัท ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัว ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในภาคธุรกิจธนาคาร ตลอดจนผลการดำเนินงานของบรรษัทที่ค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น
ทริสรายงานว่าบรรษัทจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด แม้จะมิใช่รัฐวิสาหกิจ แต่การที่บรรษัทมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันเกือบ 30% ของจำนวนหุ้นทั้งสิ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนการสนับสนุนและความสัมพันธ์ของภาครัฐต่อบรรษัท อาทิ การที่กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้ยืมเงินบางส่วน รวมทั้งการที่บรรษัทมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและสานต่อนโยบายของกระทรวงการคลัง ปัจจุบันบรรษัทมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางปล่อยสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยในปี 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสรรเงินจำนวน 9,000 ล้านบาทให้แก่บรรษัทเพื่อให้กู้ยืมแก่กิจการดังกล่าว โดยบรรษัทต้องปล่อยกู้สมทบเพิ่มอีกจำนวน 6,000 ล้านบาท แสดงถึงบทบาทของบรรษัทที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระดับหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
ทริสกล่าวว่าสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ของบรรษัทลดลงจาก 37,777 ล้านบาท หรือ 27.8% ของสินเชื่อรวมในปี 2542 เป็น 26,460 ล้านบาท หรือ 17.8% ของสินเชื่อรวมในปี 2543 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ ในปี 2543 บรรษัทสามารถปรับโครงสร้างหนี้จำนวนทั้งสิ้น 42,041 ล้านบาท ประกอบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ปกติ 6,985 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้ของสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ 35,056 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 28,414 ล้านบาท หรือ 18.7% ของสินเชื่อรวมในเดือนมิถุนายน 2544 โดยสูงกว่าสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้โดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ซึ่งเท่ากับ 12.6% ทั้งนี้เนื่องจากผลการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชะลอตัวและปัญหาของสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ที่กลับมาเป็นหนี้เสียอีก รวมทั้งผลจากการโอนสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้จากธนาคารภาครัฐไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งบรรษัทเองก็มีแผนจะโอนสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ในอนาคต ในเดือนพฤศจิกายน 2543 บรรษัทสามารถเพิ่มฐานเงินกองทุนด้วยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนจำนวน 1,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้
ผลการดำเนินงานโดยรวมของบรรษัทดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 47 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2544 ซึ่งดีขึ้นจากผลขาดทุนสุทธิ 7,930 ล้านบาทในปี 2542 และ 1,649 ล้านบาทในปี 2543 แม้ว่าบรรษัทจะมีส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้และต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุนที่ยังติดลบอยู่ แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจาก -1.7% ในปี 2542 และ 2543 เป็น -0.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2544 โดยบรรษัทได้พยายามเพิ่มความสามารถในการทำกำไรทั้งในรูปของการกำหนดนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใหม่ รวมทั้งการระดมเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยสูง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก -0.9% และ -16.1% ในปี 2543 เป็น 0.03% และ 0.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2544 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานโดยรวมของบรรษัทยังคงค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น
จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี 2544 ประกอบกับการคาดการณ์ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2544 ที่ระดับเกิน 1% เพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออก ซึ่งจะกระทบต่อการขยายสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ของบรรษัทในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะผลกระทบจากผู้ส่งออก ในขณะที่สถาบันการเงินยังคงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและการแข่งขันที่สูงขึ้นในภาคธุรกิจธนาคาร จึงมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบรรษัท ทริสกล่าว - จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ