ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ระดับ “AAA” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดและเป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย อันดับเครดิตดังกล่าวยังได้พิจารณาถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ กฟผ. ตลอดจนการมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงที่ไม่มากนักและระดับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างแข็งแกร่ง ด้วยเช่นกัน
กฟผ. ก่อตั้งในปี 2512 ภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 โดยการรวมรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้า 3 แห่งเข้าด้วยกัน ปัจจุบัน กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง
กฟผ. มีบทบาทที่สำคัญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทย โดย กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ภายใต้ระบบผู้ซื้อไฟฟ้าและผู้ควบคุมระบบไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer Model) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยนั้น ประมาณ 97% ของไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศจะผลิตและจัดหาผ่านระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ผลิตและจัดหานั้นจะจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (68%) และการไฟฟ้านครหลวง (31%) ซึ่งรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า
กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 กฟผ. เป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้า 47 แห่ง รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 16,071 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 39% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ส่วนที่เหลือ 61% นั้นเป็นการรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศ (52%) และนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (9%)
กฟผ. เป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ปัจจุบันระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งมีความยาวสายส่งไฟฟ้า 33,460 วงจร-กิโลเมตร นอกจากนี้ กฟผ. ยังเป็นผู้บริหารศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center) ซึ่งทำหน้าที่สั่งการการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งหมด กฟผ. มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดี่เยี่ยมในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้ประเทศไทยด้วย
โครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นมีกลไกในการส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิง ผลตอบแทนการลงทุนของ กฟผ. และต้นทุนการซื้อไฟฟ้า โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ควบคุมดูแลอัตราค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้กำหนดอัตราผลตอบแทนเงินลงทุน (Return on Invested Capital -- ROIC) ของ กฟผ. ที่ 5.69% เพื่อให้มั่นใจว่า กฟผ. จะมีเงินสดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน การเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิง หรือ การเปลี่ยนแปลงของราคารับซื้อไฟฟ้า จะถูกนำไปพิจารณาในการกำหนดค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) โดย กกพ. จะคำนวณและประกาศการเปลี่ยนแปลงของ Ft ทุก 4 เดือน จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงของ กฟผ. ต่อความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง รวมถึงต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมีไม่มากนัก
ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟผ. เติบโตขึ้นตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real Gross Domestic Product -- Real GDP) โดยในช่วงปี 2555-2559 Real GDP มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.4% ต่อปี ส่วนการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.6% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ในปี 2559 กฟผ. มีปริมาณจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 185,047 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (ล้านหน่วย) เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาพลังงานที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟผ. ลดลงประมาณ 10.5% จาก 2.96 บาทต่อหน่วยในปี 2558 เหลือ 2.65 บาทต่อหน่วยในปี 2559 รายได้ของ กฟผ. สำหรับปี 2559 จึงลดลง 9% เหลือ 496,883 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่กำหนดผลตอบแทนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ทำให้ผลการดำเนินงานรวมของ กฟผ. มีเสถียรภาพที่ดี โดย กฟผ. ยังคงรายงานกำไรสุทธิที่แข็งแรงที่ 43,867 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 132,885 ล้านบาทในปี 2559
กฟผ. มีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง กล่าวคือ กฟผ. มีนโยบายดำรงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีนโยบายสำหรับการรักษาอัตราส่วนทางการเงินเพื่อการดูแลวินัยทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วยการรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (Debt to Equity Ratio) ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Ratio) ไม่ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า
กฟผ. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2559 กฟผ. รายงานเงินกู้รวมทั้งสิ้น 413,655 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการภาระผูกพันสำหรับการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอื่น (หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงิน - โรงไฟฟ้า) ประมาณ 76% ของเงินกู้รวม ส่วนที่เหลืออีก 24% ประกอบด้วยเงินกู้ของ กฟผ. 54,943 ล้านบาท เงินกู้ของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ กฟผ. จำนวน 24,763 ล้านบาท และภาระผูกพันจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ. อีก 20,280 ล้านบาท แม้ว่าจะรวมรายการภาระผูกพันสำหรับการซื้อไฟฟ้าเป็นเงินกู้ ฐานะการเงินของ กฟผ. ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 50.8% ณ สิ้นปี 2559
มองไปข้างหน้า ทริสเรทติ้ง ประมาณการ EBITDA ของ กฟผ. ที่ประมาณ 135,000-145,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 โดยประมาณการนี้อยู่บนสมมุติฐานว่าอัตราการเติบโตของ Real GDP เฉลี่ยปีละ 3.4% นอกจากนี้ยังคาดว่า กฟผ. จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 220,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2560-2562 เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้แก่ประเทศ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้รวมถึงโครงการลงทุนที่มีภาระผูกพันสำหรับพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า รวมถึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่กำลังจะปลดออกจากระบบ เมื่อเทียบกับประมาณการ EBITDA ที่ประมาณ 135,000-145,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนส่วนใหญ่น่าจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของ กฟผ. จะไม่เกินกว่า 55% ในช่วงที่ประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทย โดยปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐจนเป็นผลให้สถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. เปลี่ยนไป หรือ บทบาทของ กฟผ. ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยลดความสำคัญลงไป
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html