บริษัทไฟฟ้าน้ำงึม 2 เป็นหนึ่งในบริษัทหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ช.การช่าง บริษัทจัดตั้งในปี 2550 ภายใต้กฎหมายของ สปป. ลาว เพื่อเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 กลุ่มผู้ถือหุ้นหลักที่เป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดของบริษัทประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 42% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 25% และ EDL-Generation PLC (EDL-Gen) 25% โดย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านพลังงานของกลุ่ม ช.การช่าง ปัจจุบัน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ลงทุนทั้งในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีใน สปป. ลาว สำหรับ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (ได้รับอันดับเครดิต "AAA" จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งถือหุ้นโดย กฟผ. ในสัดส่วน 45% นั้นเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 6,496 เมกะวัตต์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 ส่วน EDL-Gen นั้นเป็นบริษัทลูกของ Electricite du Laos (EDL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป. ลาว ปัจจุบัน EDL-Gen ได้รับอันดับเครดิต “BBB+/Negative” จากทริสเรทติ้ง
โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนแม่น้ำงึมซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 (กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์) ไปทางต้นน้ำ 35 กิโลเมตร (กม.) การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 แล้วเสร็จตามเวลาด้วยงบลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 31,000 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงาน (Initial Operation) ในเดือนมีนาคม 2554 และดำเนินงานเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation) ในเดือนมกราคม 2556
ลักษณะโครงสร้างสัญญาในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทช่วยบรรเทาความเสี่ยงส่วนใหญ่ของโครงการ ความเสี่ยงด้านการตลาดส่วนใหญ่ได้รับการบรรเทาลงด้วยสัญญา PPA กับ กฟผ. ระยะเวลา 25 ปีนับจากวันเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date -- COD) โดย กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมดโดยสามารถเรียกรับไฟฟ้าส่วนที่ขาดให้ครบได้ในภายหลัง (Take-or-Pay) ซึ่ง กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,310 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ต่อปี (Annual Supply Target) ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะต้องมีความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันหรือเทียบเท่ากับพลังงานไฟฟ้าประมาณ 1,722 ล้านหน่วยต่อปี (หรือประมาณ 77% ของAnnual Supply Target ส่วนค่าไฟฟ้านั้นมีการระบุไว้อย่างชัดเจนใน PPA ว่าจะสามารถปรับขึ้นได้ประมาณ 7.8% ในปี 2562 โดยค่าไฟฟ้าครึ่งหนึ่งจะจ่ายในสกุลเงินบาท ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะจ่ายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
การกำหนด Annual Supply Target นั้นมาจากอัตราการไหลของน้ำเข้าเขื่อนต่อปีซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6,270 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นการคำนวณจากข้อมูลย้อนหลังระหว่างปี 2492–2546 โดยค่าเฉลี่ยของอัตราการไหลของน้ำเข้าเขื่อนในช่วงปี 2554–2559 อยู่ที่ 6,529 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตประมาณ 4.1%
นอกจากนี้ PPA ยังมีกลไกที่ทำให้กระแสเงินสดของบริษัทมีเสถียรภาพแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะมากหรือน้อยกว่า Annual Supply Target โดยกลไกดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถขายไฟฟ้าเกินกว่าเป้าหมายในปีที่มีปริมาณน้ำมาก ในขณะที่ปีที่มีปริมาณน้ำน้อยนั้นบริษัทจะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้ และหากกรณีที่บริษัทขายไฟฟ้าได้ต่ำกว่า Annual Supply Target ส่วนที่ขาดนี้ก็สามารถนำไปทบกับ Annual Supply Target สำหรับปีต่อ ๆ ไปได้
ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงไปเนื่องจาก กฟผ. เป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าให้แก่บริษัท โดยบริษัทได้ทำสัญญาเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance Agreement -- OMA) กับ กฟผ. ซึ่งครอบคลุมตลอดอายุสัญญา PPA กฟผ. มีความชำนาญและมีประสบการณ์ที่ยาวนานในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย ดังนั้น การมีส่วนร่วมของ กฟผ. จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานลงไปได้มาก นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานโรงไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นมา ค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 96% และสัดส่วนความสำเร็จในการเริ่มเดินเครื่องก็สูงกว่า 99% โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ บริษัทยังทำสัญญาซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Maintenance Agreement -- MMA) กับ กฟผ. อีกด้วย โดยขอบเขตของสัญญานั้นรวมถึงการซ่อมบำรุงเชิงป้องกันและการแก้ไข สัญญานี้มีอายุ 7 ปีซึ่งจะครบกำหนดในปี 2562 แต่ในเงื่อนไขของสัญญามีระบุทางเลือกในการต่อสัญญาเอาไว้ด้วย ซึ่งคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะต่อสัญญาดังกล่าว
ความเสี่ยงจากการโอนและแลกเปลี่ยนสกุลเงินบรรเทาลงจากการมีสัญญาสัมปทาน (Concession Agreement -- CA) กับรัฐบาล สปป. ลาว โดยสัญญาสัมปทานได้ให้สิทธิ์บริษัทในการรับรายได้และพักเงินในบัญชีที่อยู่นอก สปป. ลาวได้ ซึ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ได้รับจาก กฟผ. นั้นใช้วิธีจ่ายเข้าบัญชีของบริษัทในประเทศไทย นอกจากนี้ สัญญาสัมปทานยังให้สิทธิ์บริษัทในการใช้น้ำจากแม่น้ำงึมในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงสิทธิ์ในการถือครองที่ดินโดยการเช่าซึ่งรวมถึงอ่างเก็บน้ำและสิทธิ์ในการใช้ถนนทางเข้าโครงการและสายส่งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีหน้าที่ต้องชำระค่าสิทธิ์สัมปทาน (Royalty Fee) และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐบาล สปป. ลาว ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้ บริษัทยังจะต้องดำเนินการภายใต้แผนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและแผนงานพัฒนาด้านสังคมในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องโดยให้เหมาะสมกับวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้วย
ด้วยกลไกที่กำหนดไว้ในสัญญา PPA บริษัทมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ค่อนข้างคงที่ แม้ว่าบางปีจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็ตาม รายได้ในช่วงปี 2554-2557 อยู่ระหว่าง 3,800-4,200 ล้านบาทต่อปีและ EBITDA อยู่ในช่วง 3,000-3,300 ล้านบาทต่อปี ปริมาณการไหลของน้ำเข้าเขื่อนอยู่ระหว่าง 5,800-6,700 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี สำหรับปี 2558-2559 นั้นปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 2 ปีติดต่อกัน ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ที่ระดับ 2,104 ล้านหน่วยในปี 2558 และ 2,109 ล้านหน่วยในปี 2559 อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทยังคงอยู่ที่ประมาณ 3,800 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ EBITDA นั้นลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปีเล็กน้อยซึ่งใกล้เคียงกับเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าที่ลดลงในปี 2558-2559 ไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทในระยะยาวเพราะปริมาณไฟฟ้าส่วนที่ขาดจาก Annual Supply Target ดังกล่าวสามารถนำไปทบกับ Annual Supply Target สำหรับปีต่อ ๆ ไปได้
บริษัทมีสถานะทางการเงินในระดับปานกลาง โครงสร้างรายได้และเงินกู้ของบริษัททำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่บ้างเนื่องจากบริษัทมีรายได้ที่ชำระเป็นเงินบาท 50% และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 50% ในขณะที่โครงสร้างเงินกู้ประกอบด้วยเงินกู้สกุลเงินบาท 70% และเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อีก 30% นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้โครงการของบริษัทเป็นแบบลอยตัวซึ่งอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาทและอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (LIBOR) สำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ในอนาคตทริสเรทติ้งประมาณการว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 3,000-3,600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการประมาณการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าบริษัทจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตาม Annual Supply Target ที่ 2,310 ล้านหน่วยต่อปี โดยมีปริมาณการไหลของน้ำเข้าเขื่อนที่ 6,270 ล้าน ลบ.ม. กลไกที่ระบุใน PPA จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้แม้ว่าจะมีความผันผวนของปริมาณน้ำในแต่ละปี บริษัทได้ตั้งงบประมาณจำนวน 3,120 ล้านบาทสำหรับการลงทุนขยายสถานีไฟฟ้าย่อยนาบงในช่วงปี 2559-2561 เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน PPA และตามความต้องการของรัฐบาล สปป. ลาว ด้วยการมี EBITDA และการลงทุนในระดับที่ประมาณการดังกล่าว บริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อ EBITDA อยู่ในระหว่าง 4-5 เท่า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและปริมาณน้ำให้มีเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายทั้งในปีที่มีปริมาณน้ำมากและในปีที่มีปริมาณน้ำน้อย
ปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทนั้นอาจเกิดจาการที่บริษัทมีการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทนั้นอาจเกิดจากการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่ถดถอยลง หรือการที่บริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html