ทริสคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ "แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส" ระดับ "AA-"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 31, 2001 08:16 —ทริส เรตติ้ง

        บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ทบทวนผลอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน 8,000 ล้านบาทและ 12,000 ล้านบาทของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "AA-" คงเดิม พร้อมจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันมูลค่ารวม 15,000 ล้านบาทในระดับ "AA-" อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานภาพผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นมาก ทีมผู้บริหารที่มีความสามารถ สถานะทางการเงินที่ยังแข็งแกร่ง ในขณะที่มีปัจจัยบั่นทอนอันดับเครดิต ได้แก่ ความต้องการใช้เงินลงทุนขยายโครงข่ายเป็นจำนวนมากในอีก 2 ปีข้างหน้า ความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม และการแข่งขันที่รุนแรงจากการมีผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งนี้การให้อันดับเครดิตได้คำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและลบหลังจากที่เมื่อเดือนกันยายน 2544 บริษัทได้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ซึ่งมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าบริษัทมาก แต่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่บริษัทในอนาคต
ทริสรายงานว่าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก 2 รายของประเทศร่วมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมากจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงโดยตลอด บริการรูปแบบใหม่ๆ และราคาของเครื่องที่ลดลงถึง 30%-40% ในช่วงปี 2543 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2544 รวมถึงอัตราการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ต่อประชากรโดยรวมของไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 8.6% ซึ่งดึงดูดให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสองมากนักเพราะปริมาณการใช้บริการโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาที่ถูกลงและบริการใหม่ๆ ที่ดึงดูดใจ ซึ่งผู้ประกอบการรายเก่าจะสามารถแข่งขันได้ก็ด้วยการขยายโครงข่ายให้กว้างขวางเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ รวมถึงการเสนอบริการใหม่ๆ แก่ลูกค้าเพื่อเพิ่มรายได้ ดังนั้น ในช่วงปี 2544-2546 บริษัทและดีพีซีจึงจำเป็นจะต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อขยายโครงข่ายให้เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้ โดยมูลค่าการลงทุนจะสูงถึง 64,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนของบริษัทตั้งแต่เริ่มกิจการจนถึงสิ้นปี 2543 โดยประมาณครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนจะมาจากการกู้ยืมเนื่องจากเงินสดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทในแต่ละปีไม่เพียงพอ และแม้ว่าการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในดีพีซีจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีในระยะยาวเพราะจะทำให้บริษัทสามารถขยายโครงข่ายให้กว้างขวางและรวดเร็วกว่าคู่แข่ง จะมีคลื่นความถี่เพิ่ม 12.5x2 MHz จากดีพีซี รวมถึงจะลดต้นทุนการลงทุนต่อจำนวนคู่สายใหม่ในโครงข่าย แต่ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าฐานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากการที่ดีพีซีมีฐานะที่อ่อนแอกว่า
ทริสกล่าวว่าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศได้เพิ่มขึ้น 45% ในปี 2543 และเพิ่มขึ้นถึง 46% ในชั่วระยะ 6 เดือนแรกของปี 2544 โดยในส่วนลูกค้าของบริษัทได้เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งทำให้บริษัทครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ฐานลูกค้าของบริษัทได้เพิ่มขึ้นจาก 45% ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด ณ ปลายปี 2541 เป็น 57% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 ด้วยจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 3 ล้านราย ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของแทคได้ลดลงจาก 43% ในปี 2541 มาสู่ระดับ 37% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 ความสามารถของทีมผู้บริหารผนวกกับการมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอทำให้บริษัทสามารถสร้างตราสัญลักษณ์ "เอไอเอส" ให้แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถครองส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่บริษัทในระยะยาว
สำหรับฐานะทางการเงิน ทริสรายงานว่ากระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินกิจการของบริษัทเพิ่มสูงมากในปี 2543 และครึ่งแรกของปี 2544 จากการเติบโตที่สูงมากของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2543 และครึ่งแรกของปี 2544 เท่ากับ 13,249 ล้านบาทและ 8,481 ล้านบาทตามลำดับ เทียบกับ 8,356 ล้านบาทในปี 2542 ในขณะที่เงินกู้ยืมเพื่อขยายการลงทุนได้เพิ่มขึ้นจาก 6,875 ล้านบาท ณ ปลายปี 2542 เป็น 13,437 ล้านบาท ณ ปลายปี 2543 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000-50,000 ล้านบาทในช่วงปี 2544-2545 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้ได้ลดลงจาก 120% ในปี 2542 เป็นประมาณ 99% ในปี 2543 และคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 30%-40% ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งหากอัตราส่วนดังกล่าวลดลงมากกว่านี้อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายได้เพิ่มขึ้นจาก 37.7% ในปี 2542 เป็น 38.2% ในปี 2543 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 38.4% สำหรับครึ่งแรกของปี 2544 เพราะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด
อย่างไรก็ตาม ทริสกล่าวว่านโยบายของรัฐบาลในการเปิดเสรีโทรคมนาคมคาดว่าจะทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น แต่รูปแบบและระยะเวลาในการเปิดเสรีที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่นอนในขณะนี้ทำให้ยากที่จะคาดคะเนถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ประกอบการ - จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ